“จุรินทร์” เผย คดีอุ้มบุญปล่อยให้อัยการสูงสุดดำเนินการควบคู่กับตำรวจ ตอนนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานจากหญิงรับจ้างทั้ง 15 ราย ขณะที่แพทยสภา ชี้ มีแพทย์เอี่ยวรับจ้างอุ้มบุญ 4 ราย คาดใช้เวลาพิจารณาจริยธรรม 1 ปี และมีสถานพยาบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 2 แห่ง
จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้หารือร่วมหน่วยงานต่างๆ 11 หน่วยงานเกี่ยวกับคดีบริษัทนายหน้ารับหาหญิงเพื่ออุ้มบุญให้แก่ครอบครัวที่อยากมีบุตรนั้น
ล่าสุด วันนี้ (10 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ขณะนี้การดำเนินคดีต้องปล่อยให้อัยการสูงสุดดำเนินการควบคู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างการสืบพยานจากหญิงรับจ้างอุ้มบุญทั้งหมด 15 ราย ซึ่งทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงการต่างประเทศจะได้ดำเนินการทยอยส่งตัวหญิงชาวเวียดนามกลับประเทศต่อไปหลังจากที่มีการสืบพยานแล้วเสร็จ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของอนุกรรมการดำเนินการสอบสวนสถานพยาบาล พบว่า สถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง 2 แห่ง สถานพยาบาล 1 แห่งได้รับการรับรองการผสมเทียมจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ สถานพยาบาลอีก 1 แห่ง ไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งอาจจะมีความผิดมาตรา 34(2) พรบ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ฐานทำไม่ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพและหากแพทยสภามีความเห็นว่าแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการทำอุ้มบุญผิดจริยธรรม สถานพยาบาลทั้ง 2 แห่ง จะมีความผิดฐานปล่อยปละละเลยตามมาตรา 34(2) เช่นเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า กรม สบส.ได้ทำหนังสือมายังแพทยสภา เพื่อขอให้พิจารณาจริยธรรมของแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการทำอุ้มบุญให้กับหญิงชาวเวียดนาม จำนวน 4 ราย เป็นแพทย์ที่ลงมือผสมเทียม 2 ราย และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาล 2 รายจากสถานพยาบาล 2 แห่ง ซึ่งในกรณีนี้ถือว่ากรม สบส.เป็นผู้ร้องเรียน แพทยสภาสามารถส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมแพทย์ของแพทยสภาพิจารณาได้ทันที คาดว่า จะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 1 ปี แต่อาจจะเร่งรัดให้เร็วขึ้นได้หากมีหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งในระหว่างที่มีการสอบสวนแพทย์ทั้งหมดยังสามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อไปได้ เนื่องจากยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด
นายกแพทยสภา กล่าวอีกว่า ในการสอบสวนจริยธรรมของแพทย์รายดังกล่าวจะพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ทำตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ 2.ผิดประกาศแพทยสภา ที่กำหนดว่า การตั้งครรภ์แทนต้องมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และจะต้องไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่ และ 3.ผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่ โดยจะต้องขอหลักฐานที่เป็นเวชระเบียนผู้ป่วย เพื่อประกอบการพิจารณาว่าแพทย์กระทำตามที่ถูกกล่าวอ้างจริงหรือไม่ สอบถามแพทย์ว่า กระทำเพราะอะไรและถามความเห็นไปยังราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยว่าการกระทำเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ หากเข้าข่ายความผิดใดความผิดหนึ่งจะถือว่าผิดจริยธรรม มีโทษตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือน การภาคทัณฑ์ การพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และการเพิกถอนใบอนุญาตฯ