แพทย์ รพ.ราชวิถี แนะ ตรวจคัดกรองเด็กแรกเกิด เพื่อหาภาวะประสาทหูเสื่อมโดยเร็ว ช่วยลดปัญหาเด็กใบ้-หูหนวก แนะผู้ปกครองให้ความสำคัญสังเกตอาการผิดปกติของลูก
พญ.นภัสถ์ ธนะมัย แพทย์ด้านโสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี กล่าวในการประชุมวิชาการ รพ.ราชวิถี ว่า จากการศึกษารายงานสถานการณ์ปัญหาความชุกของเด็กแรกเกิดที่ป่วยเป็นประสาหูเสื่อมประมาณ 1-3 คน ต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน ซึ่งตรวจคัดกรองโดยวิธีเดิม คือ เลือกตรวจเฉพาะเด็กที่อยู่กลุ่มเสี่ยงเท่านั้น คือ มารดามีภาวะติดเชื้อในครรภ์หรือนอนพักฟื้นในห้องผู้ป่วยวิกฤตเป็นเวลานานกว่า 48 ชม.หรือบิดา-มารดาเคยป่วยเป็นประสาทหูเสื่อมมาก่อน โดยจากสถานการณ์การตรวจคัดกรองในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (USA) ตามรูปแบบการคัดกรองเด็กที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าว พบว่า มีผลทำให้เด็กเสี่ยงเกิดภาวะประสาทหูเสื่อมร้อยละ 2-5 ซึ่งการตรวจคัดกรองแบบการแยกกลุ่มเสี่ยงนั้นทีมแพทย์มนอเมริกาพบว่า จะทำให้เด็กต้องป่วยด้วยภาวะประสาทหูเสื่อมที่นานราว 8 เดือน ถึง 1 ขวบ ทำให้มีความบกพร่องทางการสื่อสารทั้งสิ้น เช่น การพูดจาช้ากว่าเด็กทั่วไป หรือบางคนก็ไม่พูดเลย ซึ่งหากปล่อยไว้เมื่อเด็กโตขึ้นอาจเป็นใบ้ได้ ขณะเดียวกันแพทย์ยังพบว่า หากเร่งตรวจในเด็กทุกคนตั้งแต่แรกคลอด (Universal Newborn Hearing Screening หรือ UNHS) โอกาสที่แพทย์จะพบความผิดปกติของประสาทหูในเด็กก็จะเร็วขึ้น อีกทั้งสามารถรักษาฟื้นฟูการได้ยินให้เด็กมีพัฒนาการทักเทียมเด็กปกติได้เร็วขึ้นด้วย
พญ.นภัสถ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการตรวจคัดกรองภาวะประสาทหูเสื่อมในเด็กแรกเกิดสามารถไช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นมี 2 วิธี คือ 1.Otoacoustic emissions (OAEs) ทำได้โดยการนำเครื่องตรวจวัดใส่ไปในหูของเด็กแล้วดูการสังเกตการสั่นของเสียงในหูชั้นในที่ส่งกลับมา หากพบว่า มีการสั่นออกมาก็แสดงว่าหูปกติ แต่ถ้าเงียบก็แสดงว่าเริ่มเสื่อม ทั้งนี้หากตรวจด้วยวิธี OAEs ไม่ผ่านและยังพบความผิดปกติ แพทย์ต้องนัดผู้ป่วยมาตรวจด้วยวิธีที่ 2 คือ วิธี Automated auditory brainstem response (AABR) ภายใน 48 วัน หลังตรวจด้วยวิธีแรก โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า โพรบ (Probe) ติดบริเวณหน้าผากกับหลังหูเพื่อตรวจในเชิงลึกมากขึ้น โดยวินิจฉัยจากก้านสมอง โดยวิธี AABR สามารถตรวจได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
“ปัญหาที่มี คือ ผู้ปกครองมักไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องนี้ จึงมักสังเกตความผิดปกติได้ช้า เนื่องจากบางรายมักจะมีวิธีการฝึกการสื่อสารให้ลูกด้วยการ กล่าวนำแต่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ตอบโต้ ดังนั้น ก่อนที่อาการป่วยจะลามในเด็กมากขึ้น ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองดังกล่าวด้วย ส่วนสูตินรีแพทย์และกุมารแพทย์ก็ต้องเร่งดำเนินการในส่วนนี้โดยเร็ว คิดว่า หากมีการรณรงค์ทั่วถึงก็จะช่วยลดจำนวนเด็กที่เป็นใบ้ หนวกและพูดช้า ให้น้อยลง และแบ่งเบาภาระของสังคมเรื่องการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษอีกด้วย” พญ.นภัสถ์ กล่าว