“จุรินทร์” รุดเยี่ยมสาวญวน รับอุ้มบุญรายที่ 14 รพ.เสรีรักษ์ สั่ง สบส.คุยร่วมตำรวจ-แพทยสภา เร่งเครื่องติดตามคดี ชี้ ปัญหานี้มีผิด กม.วิชาชีพ และสถานพยาบาลเถื่อน ด้าน ผอ.รพ.เสรรักษ์ เผย คนไทยใช้บริการปรึกษาปัญหามีบุตรยาก พุ่ง 30 รายต่อเดือน
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงพยาบาลเสรีรักษ์ เขตมีนบุรี กทม.ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีศูนย์รับปรึกษาปัญหามีบุตรยาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมสาวเวียดนามรายหนึ่ง อายุ 31 ปี ซึ่งเป็นผู้รับจ้างอุ้มบุญอย่างเต็มใจ และเพิ่งคลอดไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยคลอดเป็นบุตรชายอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ น้ำหนัก 1,600 กรัม ด้วยวิธีการผ่าคลอด ซึ่งขณะนี้ได้ย้ายทารกไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ เนื่องจากมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด ว่า จากกรณีตรวจจับสาวเวียดนาม 13 รายที่บริษัท เบบี้ 101 จำกัด ของ นายเสียง ลุง โล ซึ่งเป็นชาวไต้หวัน โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้นำกลุ่มหญิงสาวดังกล่าวเข้าพักที่บ้านพักเกร็ดตระการแล้ว ล่าสุด ได้พบหญิงสาวเวียดนามอีก 1 ราย ได้ฝากครรภ์และผ่าคลอดที่โรงพยาบาลเสรีรักษ์ ซึ่งพบว่าหญิงสาวรายที่ 14 เป็นหนึ่งในผู้รับจ้างอุ้มบุญของบริษัท เบบี้ 101 เช่นกัน แต่ทำด้วยความสมัครใจ โดยได้รับรายได้ราว 100,000 กว่าบาท และระหว่างตั้งครรภ์ก็จะได้รับอีกประมาณ 2-3 พันบาท
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของ สธ.นั้น พบว่ามี 2 ส่วน คือ 1.พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ของแพทยสภา ซึ่งในส่วนนี้ต้องรอว่ามีแพทย์ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และต้องพิจารณาว่า แพทย์รายนั้นมีใบรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เพราะหากไม่มีถือว่าเป็นแพทย์เถื่อน ซึ่งการอุ้มบุญ แพทยสภาได้กำหนดเกณฑ์ไว้เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ คือ ผู้ที่รับอุ้มบุญต้องเป็นญาติ หรือมีสายเลือดเกี่ยวพันกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น และต้องไม่มีการให้ค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับอุ้มบุญ ส่วนในกรณีการบริจาคน้ำเชื้อ หรือ รังไข่ ก็ต้องไม่มีการให้ค่าตอบแทนเช่นกัน ทั้งนี้ ในกรณีของ บริษัท เบบี้ 101 มีการบังคับกักขังหญิงเวียดนามด้วยกระบวนการทางการแพทย์ ซึ่งส่วนนี้ถือว่าผิด เป็นการค้ามนุษย์ชัดเจน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) โดยจะตรวจสอบ กระบวนการผสมเทียมในสถานพยาบาล ว่าสถานพยาบาลนั้นมีมาตรฐาน และมีใบรับรองถูกต้องตามกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนอยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากเข้าข่ายความผิดข้อใดข้อหนึ่งก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป สำหรับแพทย์ซึ่งเป็นผู้กระทำการผสมเทียม ก็ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน โดยให้เป็นหน้าที่ของแพทยสภา ในการตัดสินว่าเข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยหรือไม่
“ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แพทยสภา และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าของคดีและผู้ต้องหาที่เป็นนายหน้าในการหากลุ่มหญิงเวียดนามมาตั้งท้อง รวมทั้งจะหารือว่ามีแพทย์ หรือสถานพยาบาลใดที่เกี่ยวข้องบ้าง” นายจุรินทร์ กล่าวว่า เบื้องต้นหญิงสาวทั้ง 13 ราย ที่ถูกส่งตัวไปยังบ้านเกร็ดตระการ พบว่า มี 4 ราย ที่ต้องการอยากให้เอาเด็กออก เนื่องจากถูกบังคับให้อุ้มบุญ และถูกกักขัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของพม.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนการเอาเด็กออกจะต้องพิจารณากันต่อไป
พ.ต.ต.มล.พันธ์ศักดิ์ เกษมสันต์ รองผู้บัญชาการ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กล่าวว่า ขณะนี้สามารถผู้ที่อยู่ในกระบวนการดังกล่าวได้ 1 ราย และอีก 1 รายซึ่งเป็นบริษัทจัดหาคนได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ จึงได้ขออำนาจศาลในการออกหมายจับ และประสานกับประเทศนั้นๆ เพื่อดูว่ามีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ เพื่อตามตัวกลับมาสอบสวนและดำเนินคดีในประเทศไทย ทั้งนี้ สำหรับหญิงทั้ง 13 ราย ที่รับอุ้มบุญและคุมตัวได้แล้วนั้น กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ว่า มีอายุครรภ์เท่าใดบ้าง
นพ.มานิตย์ ศิริกังวาลกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสรีรักษ์ กล่าวว่า รพ.ได้รับฝากครรภ์หญิงคนดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่ามีการผสมเทียมอย่างไร ที่ไหน ซึ่งหญิงดังกล่าวได้คลอดบุตรชาย ด้วยวิธีการผ่าคลอด แต่อายุครรภ์ไม่ครบทำให้น้ำหนักตัวเด็กน้อยประมาณ 1,600 กรัม ได้ส่งตัวไปให้อ๊อกซิเจนที่ รพ.นพรัตน์ แล้ว ยืนยันว่า โรงพยาบาลไม่ได้ทำอะไรผิด มีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ทุกอย่าง ทั้งเวชระเบียน ประวัติการฝากครรภ์ โดยมีการตรวจสอบหลักฐานตามปกติ เช่น พาสปอร์ต วีซ่า ก็ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ปกติจะพบชาวต่างชาติที่มาใช้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่โรงพยาบาล 2-3 เดือน 1 ราย ส่วนคนไทยจะพบ 20-30 ราย ซึ่งสถานพยาบาลก็ต้องให้บริการตามปกติหากมีเอกสารแสดงตัวบุคคลถูกต้อง ซึ่งกระบวนการอุ้มบุญจะมีการตรวจสอบหลักฐาน เพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
ด้าน นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการการ รพ.นพรัตน์ราชธานี กล่าวว่า จากการตรวจร่างกายหญิงชาวเวียดนามที่รับอุ้มบุญทั้ง 13 คน พบว่า มีสุขภาพดี แต่ส่วนใหญ่มีภาวะขอความเครียด โดยมีความเครียดมาก ถึง 4-5 คน เนื่องจากกังวลว่ามีอายุครรภ์มากประมาณ 7-8 เดือน และจะได้รับเงินค่าจ้างหรือไม่ ทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่าย และเรื่องของการจับกุมดำเนินคดี ซึ่งในจำนวนหญิงที่ตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4-5 เดือน จำนวน 2 คน ประสงค์ขอรับการทำแท้ง และบางส่วนของผู้ที่ตั้งครรภ์ก็มีผู้ที่ไม่ยินยอมตั้งครรภ์ตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (25 ก.พ.) เวลา 08.30 น.ทาง รพ.นพรัตน์ จะรับตัวหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดมาตรวจอัลตราซาวนด์ ที่ รพ.อีกครั้ง ส่วนการทำแท้งนั้น ต้องใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาหลายด้าน และคาดว่า หากหญิงเวียดนามได้รับการดูแลซักระยะจะเปิดใจพูดคุยรายละเอียดได้ทั้งหมด