xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ใช้ 3 กลวิธี พัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แม่และเด็กใน จ.ชายแดนใต้‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ใช้ 3 กลวิธี พัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แม่และเด็กใน จ.ชายแดนใต้ ให้ดีขึ้น กรมสุขภาพจิต แนะ คนท้อง ต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด ป้องกันปัญหาซึมเศร้า สาเหตุทำให้คลอดก่อนกำหนด

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์แม่และเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีอัตราแม่และเด็กเสียชีวิตสูงขึ้น หลังจากที่เกิดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ว่า เรื่องดังกล่าวมีสาเหตุมาจาก 2 เรื่อง ประการแรกคือเรื่องบริบททางวัฒนธรรม เศรษฐานะ วิธีคิด ความเชื่อ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเฉพาะ ทำให้พบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ค่อนข้างสูง แม่จะมีลูกหลายคน มีการคุมกำเนิดน้อย ทำให้เกิดความเสี่ยง คือ แม่ที่อายุมาก มีหลายท้อง อาจเกิดการตกเลือด มีโรคแทรกซ้อน ทำให้เกิดการเสียชีวิต และประการที่ 2 คือ เรื่องการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ ที่ค่อนข้างยาก ลำบากจากสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้การให้บริการวัคซีนไม่ทั่วถึง อัตราความครอบคลุมค่อนข้างน้อย ทำให้เกิดปัญหาแม่และเด็ก

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการในภาพรวมซึ่งมี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ได้ตั้งศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศบ.สต.) เป็นกลไกการแก้ปัญหา ส่วนหน้า มีฐานะเทียบเท่ากอง ซึ่งเป็นกลไกเชื่อมต่อกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 2.จัดงบประมาณเพิ่มเติม เป็นแผนเฉพาะภาคใต้ นอกเหนือจากแผนที่ได้รับเหมือนกับจังหวัดต่างๆ รวมทั้งเรื่องงบไทยเข้มแข็ง และ3.คือเรื่องกำลังคน ได้ผลิตพยาบาลเพิ่มจำนวน 3,000 คน ซึ่งกำลังจะจบการศึกษา และจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้พยาบาลภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ

สำหรับกรณีการแก้ไขปัญหาสุขภาพแม่และเด็ก มี 3 กลวิธี ที่ขณะนี้ดำเนินการอยู่ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน ได้แก่ 1.การเพิ่มคุณภาพบริการทุกระดับ โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางด้านสูติกรรมและกุมารเวชกรรมจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ออกให้คำแนะนำในการพัฒนาศักยภาพบริการ 2.ในระดับ รพ.สต.จัดให้มีแผนการมีส่วนร่วม โดยให้ผู้นำศาสนา และสามี เข้ามาร่วมในเรื่องของการแก้ปัญหาแม่และเด็ก และส่วนที่ 3 คือการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ องค์กรเอกชน เช่นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ สถาบันประชากรต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน ร่วมแก้ปัญหาแม่และเด็ก ทั้ง 3 กลวิธีดังกล่าว ทำเป็นแผนปฏิบัติการและบูรณาการงบประมาณทั้งหมด ซึ่งแนวโน้มการพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์ณรงค์กล่าวในที่สุด

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตสูง และในกรณีที่ป่วยด้านจิตยาวนาน จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้านั้นอาจะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ และที่สำคัญอาจถ่ายทอดไปสู่เด็กในท้องให้มีปัญหาเรื่องสุขภาพทางจิตตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้สตรีที่ตั้งครรภ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ จึงมักมีปัญหาด้านสุขภาพจิตจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายทั้งแม่และเด็ก ดังนั้น คนในครอบครัวและญาติจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามทางกรมได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับดูแลเรื่องสุขภาพจิตใจแก่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นการพิเศษอยู่แล้วราวปีละ 7-10 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับงบฯในศบ.สต.และงบไทยเข้มแข็ง ดังนั้น จึงมั่นใจว่า จะสามารถเยียวยาด้านสุขภาพจิตและโรคเครียดของประชาชนได้อย่างดี

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตสูง และในกรณีที่ป่วยด้านจิตยาวนาน จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้านั้นอาจะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ และที่สำคัญอาจถ่ายทอดไปสู่เด็กในท้องให้มีปัญหาเรื่องสุขภาพทางจิตตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้สตรีที่ตั้งครรภ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ จึงมักมีปัญหาด้านสุขภาพจิตจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายทั้งแม่และเด็ก ดังนั้นคนในครอบครัวและญาติจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามทางกรมได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับดูแลเรื่องสุขภาพจิตใจแก่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นการพิเศษอยู่แล้วราวปีละ 7-10 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับงบฯในศบ.สต.และงบไทยเข้มแข็ง ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะสามารถเยียวยาด้านสุขภาพจิตและโรคเครียดของประชาชนได้อย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น