xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” สั่งเช็คต้นทุนเบื้องต้นรายโรงพยาบาล แก้ขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เดินหน้า เคลียร์ปัญหา รพ.สธ.ขาดทุน 304 แห่ง รวมเงิน 4 พันล้าน “จุรินทร์” สั่ง แก้ปัญหา ระยะยาวโดยเช็คต้นทุนเบื้องต้นรายโรงพยาบาล
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
วันนี้ ( 7 ม.ค. ) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงปัญหาโรงพยาบาล(รพ.)ในสังกัด สธ. ประสบปัญหาการขาดทุนว่า ขณะนี้มี รพ.สังกัด สธ. มีภาวะขาดทุนทั้งหมด 304 แห่ง ขาดทุนระดับรุนแรง 77 แห่ง เป็นเงิน 1,300 ล้านบาท และขาดทุนระดับรอง 227 แห่ง เป็นเงิน 2,700 ล้านบาท 4,000 บาท โดยปัญหาดังกล่าวพิจารณาจากข้อมูลใน 2 ส่วน คือ 1.เรื่องสภาพคล่องทางการเงิน โดยดูจำนวนทรัพย์สินกับหนี้สิน และ2.ดัชนีประสิทธิภาพการบริหารการเงินและการคลัง ดูจากอัตรากำไรสุทธิ ต้นทุนการดำเนินการ ศักยภาพในการเก็บหนี้จากการรักษาพยาบาล และระยะเวลาในการชำระหนี้ ซึ่งขณะนี้ตนได้มอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดสธ.ประสานกับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช. เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน

“โดยเบื้องต้นมีการพิจารณาหาทางแก้ในระยะสั้นสำหรับโรงพยาบาลที่ขาดทุนรุนแรงนั้น สปสช.จะจัดสรรงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ให้โรงพยาบาล 1,300 ล้านบาทภายในเดือนมกราคม ส่วนโรงพยาบาลที่ขาดทุนระดับรองคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกันภายในเดือนมีนาคมนี้” นายจุรินทร์ กล่าว

รมว.สธ. กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ได้มอบนโยบายให้มีการวิเคราะห์ต้นทุนขั้นต่ำของรพ.สังกัดสธ.ทั่วประเทศ โดยเริ่มจากการดูข้อมูลชัดเจนเป็นรายโรงพยาบาล เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับจัดฯ แก่ รพ.ของสปสช. คาดว่าน่าจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรงบประมาณได้ในปีงบประมาณ 2555

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดสธ. กล่าวว่า รพ.ที่ประสบภาวะขาดทุนรุนแรงพบในทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)และโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) แต่จะพบในโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็กมากกว่า ทั้งนี้ หากพิจารณากำรไ-ขาดทุน โดยนำรายรับ ลบกับรายจ่าย ในปี 2552 จะมีโรงพยาบาลที่มีผลลบ เป็นลบ 505 แห่ง และเพิ่มเป็น 585 แห่งในปี 2553 จากการที่สธ.วิเคราะห์สาเหตุการขาดสภาพคล่องของรพ.นั้น มี 3 สาเหตุ คือ 1.การจัดค่าบริการทางการแพทย์ตามจำนวนหัวประชากร ทำให้บางพื้นที่ที่มีประชากรน้อยได้รับการจัดสรรงบรายหัวน้อย ขณะที่การให้บริการมาก

2.การหักงบฯเหมาจ่ายรายหัวเป็นเงินเดือนของข้าราชการในโรงพยาบาล ส่งผลให้โรงพยาบาลที่มีข้าราชการมาก งบฯรายหัวจะถูกหักเป็นเงินเดือนมาก งบฯที่ใช้ในการให้บริการประชาชนน้อย และ3.การจัดสรรแยกเป็นกองทุนย่อยของสปสช. ทำให้กองทุนหลัก คือกองทุนผู้ป่วยในและกองทุนผู้ป่วยนอกถูกแบ่งงบประมาณไปเก็บไว้ในกองทุนย่อย ส่วนที่มีการระบุว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นสาเหตุทำให้ รพ. ขาดสภาพคล่องนั้น หากพิจารณาจากในปี 2551ที่ยังไม่มีการจ่าค่าตอบแทนกับในปี 2553 ที่มีการจ่ายค่าตอบแทนเต็มรูปแบบ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 9 พันล้านบาท เมื่อดูภาพรวมค่าตอบแทนคิดเป็นเพียง 38 %ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้น ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์จึงไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น