xs
xsm
sm
md
lg

เตือนพระสงฆ์-สามเณร อย่าคุยโทรศัพท์ระหว่างเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ แนะครูบาลีควรเป็นต้นแบบให้ศิษย์และนักเรียน ย้ำ ต้องปฏิบัติ 5 อย่าง คือ รักความเป็นครู รักนักเรียน รักขยัน รักอดทน และรักที่จะสะสมความรู้ พร้อมเตือนพระสงฆ์ สามเณรอย่านั่งเล่น-พูดคุยโทรศัพท์ระหว่างเรียน

วันนี้ (7 มี.ค.) ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) แม่กองบาลีสนามหลวง กล่าวสัมโมทนียกถา ว่า สิ่งที่ครูบาลีจะต้องปฏิบัติมี 5 ประการ คือ 1.รักความเป็นครู 2.รักนักเรียน 3.รักความขยัน 4.รักความอดทน และ 5.รักที่จะสะสมความรู้ ในขณะเดียวกัน ครูบาลีจะต้องเป็นต้นแบบให้ศิษย์และนักเรียน เนื่องจากคำว่า “ครู” ถือว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ที่สำคัญ ครูจะต้องคอยตักเตือนนักเรียนในปัจจุบันด้วย เพราะทุกวันนี้ พระภิกษุ สามเณร มีโทรศัพท์มือถือใช้กันเกือบทุกรูป โดยเฉพาะสามเณรมีใช้ตั้งแต่เด็ก หลายรูปใช้ทุกเวลา แม้แต่ในห้องเรียนทั้งนั่งเล่นโทรศัพท์ และโทร.พูดคุยกัน ส่งผลให้นักเรียนไม่ตั้งใจเรียน ดังนั้น ครูบาลี จะต้องคอยตักเตือนให้นักเรียนลดการใช้โทรศัพท์ให้เกิดความตั้งใจเรียนด้วย
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“การเป็นครูจะต้องคอยตักเตือนลูกศิษย์ เมื่อลูกศิษย์กระทำผิด หรือไม่ตั้งใจเรียน ก็ปล่อยไปเพราะความเมตตา อย่างนี้ไม่ใช่ครู หากเป็นเช่นนั้น ก็ให้ลาออกจากความเป็นครู เนื่องจากครูจะต้องมีเมตตาอย่างเหมาะสมไม่ใช่ใจดีจนลูกศิษย์ไม่เรียนหนังสือ อย่างนี้ก็จะส่งผลเสียต่อพระพุทธศาสนา คือ ส่งเสริมให้นักเรียนไม่รักเรียน ซึ่งการที่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร เรียนพระบาลีจะทำให้พระพุทธศาสนาทรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ หากพระภิกษุ สามเณร หรือครูบาลี ไม่สอนบาลี ก็จะไม่เกิดความมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา” สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าว

ขณะที่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ พศ.ร่วมกับสำนักเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง มีความปรารถนาที่จะพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนให้มีความรู้ทางด้านวิชาการ และมีกระบวนการเรียนการสอนที่สามารถตอบสนององค์ความรู้ของผู้ศึกษาให้กว้างขวาง และชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากครูผู้สอนบาลีมีความรู้ก็จะทำพระสงฆ์อ่านบาลีได้ออก ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ของพระสงฆ์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น