xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลการประกวดหนังสือดีเด่นปี 54 - “หนังสือเด็ก” ไร้รางวัลดีเด่นติดมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำเล่นไฟ ของ กฤษณา  อโศกสิน คว้านวนิยายดีเด่น
ประกาศผลหนังสือดีเด่นปี 54 “น้ำเล่นไฟ” ของ กฤษณา อโศกสิน คว้านวนิยายดีเด่น “ผ่ามิติจินตนาการ” ชัยวัฒน์ คุประตกุล ดีเด่นสารคดี “ฝากเธอช่วยซับน้ำตาโลก” ของ สิทธิเดช กนกแก้ว ดีเด่นด้านกวีนิพนธ์ “วีรชน / คนบ้า / นักล่าเงา” ผลงาน เชตวัน เตือประโคน รับดีเด่นประเภทรวมเรื่องสั้น พบหนังสือสำหรับเด็กไร้รางวัลดีเด่น เหตุภาพไม่สอดรับเนื้อหา ภาษาไม่เหมาะสมกับวัย  

วันนี้ (3 มี.ค.) นายพนม พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2554 กล่าวว่า การประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2554 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เห็นถึงความสำคัญของหนังสือว่าเป็นเครื่องช่วยพัฒนาความคิด สติปัญญา และเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน จึงได้จัดประกวดหนังสือดีเด่นขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อส่งเสริมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสือทั้ง 5 ฝ่าย คือ ผู้แต่ง สำนักพิมพ์ ผู้พิมพ์ ผู้จำหน่าย และบรรณารักษ์ผู้เผยแพร่หนังสือออกสู่ผู้อ่าน

2.เพื่อสนับสนุนให้ผู้อ่านรู้จักเลือกหาหนังสือที่มีคุณค่า มีสารประโยชน์และมีความเหมาะสมมาอ่าน เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น 3. เพื่อกระตุ้นนิสัยรักการอ่านของคนไทยโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามในปีนี้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาได้รับหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์โฆษณาเป็นเล่มบริบูรณ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 รวมจำนวน 419 เรื่อง แบ่งตามประเภทหนังสือ ดังต่อไปนี้

หนังสือสารคดี 59 เรื่อง, หนังสือนวนิยาย 23 เรื่อง, หนังสือกวีนิพนธ์ 16 เรื่อง, หนังสือรวมเรื่องสั้น 13 เรื่อง, หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี 73 เรื่อง , หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 (บันเทิงคดี) 42 เรื่อง, หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี (สารคดี) 13 เรื่อง , หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี (บันเทิงคดี) 25 เรื่อง, หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี (สารคดี) 21 เรื่อง, หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 (บทร้อยกรอง) 6 เรื่อง, หนังสือการ์ตูน และหรือนิยายภาพทั่วไป 23 เรื่อง, หนังสือการ์ตูน และหรือนิยายภาพสำหรับเด็ก 34 เรื่อง, หนังสือสวยงามทั่วไป 24 เรื่อง และหนังสือสวยงามสำหรับเด็ก 47 เรื่อง

นายพนมกล่าวต่อว่า สำหรับผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2554 ปรากฏมีหนังสือได้รับรางวัลจำนวน 44 เรื่อง ดังนี้ รางวัลดีเด่น 7 เรื่อง และ รางวัลชมเชย 37 เรื่อง แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ประกอบด้วย

** ประเภทหนังสือสารคดีรางวัลดีเด่น เรื่อง “ผ่ามิติจินตนาการ” ชัยวัฒน์ คุประตกุล ผู้ประพันธ์ จาก บริษัท พาบุญมา จำกัด รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง กำปั้นนอกสังเวียน, เรื่อง อินเดียเริ่มที่นี่ ทมิฬนาฑู และเรื่อง เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

** ประเภทหนังสือนวนิยาย รางวัลดีเด่น เรื่อง "น้ำเล่นไฟ" กฤษณา อโศกสิน ผู้ประพันธ์ จากสำนักพิมพ์เพื่อนดี
รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง ดั่งดาวระยิบฟ้า , เรื่อง นิยายในสายหมอก และ เรื่อง วาดวิมาน

** ประเภทหนังสือกวีนิพนธ์ รางวัลดีเด่น เรื่อง “ฝากเธอช่วยซับน้ำตาโลก” สิทธิเดช กนกแก้ว ผู้ประพันธ์ จาก สำนักพิมพ์ร้อยแก้ว รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ โคลงชีวประวัติพระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง) วัดไชยธาราราม จ.ภูเก็ต , เรื่อง ในความไหวนิ่งงัน และเรื่อง มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ

** ประเภทหนังสือรวมเรื่องสั้น รางวัลดีเด่น เรื่อง “วีรชน / คนบ้า / นักล่าเงา” เชตวัน เตือประโคน ผู้ประพันธ์ จากสำนักพิมพ์มติชน รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง คนในคลื่น, เรื่อง พ่อผู้ไม่อยากเดินทางไปรัสเซีย และ เรื่อง เราล้อมไว้หมดแล้ว

** ประเภทหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี ไม่มีหนังสือเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ด้แก่ เรื่อง ดูซิ ดูซิ ฉันสีอะไร, เรื่อง แม่ไก่แม่เป็ด และเรื่อง หนูรอกับหนูรี

** ประเภทหนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี (บันเทิงคดี) ไม่มีหนังสือเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง ดาวดวงนั้นของฉันคนเดียว และเรื่อง ตาลเดี่ยวยอดกตัญญู (สารคดี) ไม่มีหนังสือเรื่องใดด้รับทั้งรางวัลดีเด่น และชมเชย

** ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี (บันเทิงคดี) ไม่มีหนังสือเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง นักล่าผู้น่ารัก, เรื่อง มองทุกอย่างจากทุกมุม และ เรื่อง อีเกิ้งดวงกลม (โสกไผ่ใบข้าว ภาค ๓) (สารคดี) ไม่มีหนังสือเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง บางสิ่งไม่เคยหวนกลับ, เรื่อง พวกเราแปลงร่างได้ และเรื่อง พืชพิษ-สัตว์พิษ

** ประเภทหนังสือบทร้อยกรอง รางวัลดีเด่น เรื่อง "แสงเทียนส่องทางไทย" สิทธิเดช กนกแก้ว ผู้ประพันธ์ จากสำนักพิมพ์ร้อยแก้ว รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง กาพย์ช่วยจำ คำที่มักใช้ผิด, เรื่อง ด้วยรักและผูกพัน และเรื่อง ลมหายใจของแผ่นดิน

** ประเภทหนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ(ทั่วไป) ไม่มีหนังสือเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง แผ่นดินมหัศจรรย์ บ้านฉัน บ้านเธอ ตอน ชุลมุนบุญ สองบ้าน (นัดเหย้า), เรื่อง สาว 22 กับโรคนางเอก (ลูคีเมีย) และ เรื่อง หอมหัวใหญ่ เล่มที่ 4 ฉบับกุมหัวใจผู้พิการ (สำหรับเด็ก) ไม่มีหนังสือเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง เณรแก้วกับน้อยไชยา 2 ตอนผจญภัยในภาคกลาง และ เรื่อง อีสปในสวน

** ประเภทหนังสือสวยงาม (ทั่วไป) รางวัลดีเด่น เรื่อง “สมุดภาพความทรงจำ เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” อรรถดา คอมันตร์ ผู้ประพันธ์ จากสำนักพิมพ์สยามเรเนซองส์ รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง ทรงสื่อสาร วัฒนาประชาไทย, เรื่อง ลมหายใจใต้พระบารมี และ เรื่อง วัตถุชิ้นเยี่ยม พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (สำหรับเด็ก) รางวัลดีเด่น เรื่อง "หนูนิ่มผู้มีหัวใจเอื้อเฟื้อ" อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้ประพันธ์ จาก บริษัท ฟรีมายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง พลังงานน้ำ, เรื่อง สักวันหนูจะโต และ เรื่อง สิมม่วนซื่น

นายพนมกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลดีเด่นจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตามสำหรับหนังสือเด็กที่ไม่มีผู้ใดได้รับรางวัลนั้น เนื่องจากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นตรงกันว่า หนังสือไม่มีมาตรฐานและมีข้อบกพร่องในหลายประเด็น เช่น ภาพไม่สอดคล้องกับเนื้อหา ภาษาที่ใช้ไม่ชัดเจนและไม่เหมาะสมกับวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม จะมีการกำหนดวิธีการส่งเสริมการพัฒนาหนังสือเด็กให้กว้างขวางต่อไป
ผ่ามิติจินตนาการ  ชัยวัฒน์  คุประตกุล ดีเด่นสารคดี
ฝากเธอช่วยซับน้ำตาโลก ของ  สิทธิเดช  กนกแก้ว ดีเด่นด้านกวีนิพนธ์
หนังสือสวยงาม (ทั่วไป)  รางวัลดีเด่น เรื่อง สมุดภาพความทรงจำ เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
 วีรชน / คนบ้า / นักล่าเงา   ผลงาน เชตวัน  เตือประโคน รับดีเด่นประเภทรวมเรื่องสั้น
หนูนิ่มผู้มีหัวใจเอื้อเฟื้อ อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้ประพันธ์
หนังสือบทร้อยกรอง รางวัลดีเด่น เรื่อง แสงเทียนส่องทางไทย สิทธิเดช กนกแก้ว ผู้ประพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น