21 พ.ค.ดีเดย์กฎหมายใหม่ เน้นร้องศาลให้คุ้มครองชั่วคราว ระบุ ปี 53 มีคดีกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กพุ่งสูง 120 ราย พบมากในอายุ 14-15 ปี
พญ.กอบกุล พูลปัญญาวงศ์ ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กล่าวระหว่างการเสวนา เรื่อง “ความท้าทายของกลไกสหวิชาชีพและเครือข่ายชุมชนกับการป้องกันและแก้ไข ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” ว่า เนื่องปัจจุบันมีการกระทำความรุนแรงในเด็กและสตรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าปี 2550 มีการกระทำผิดต่อเด็กและสตรีจำนวน 74 ราย ปี 2551 จำนวน 99 ราย ปี 2552 จำนวน 86 ราย และในปี 2553 จำนวน 120 ราย ที่น่าเป็นห่วง คือ อายุของเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงน้อยลงเรื่อยๆ จาก 14-15 ปี เหลือเพียง 12-13 ปี สาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดความรุนแรง มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการเสพสื่อต่างๆ อาทิ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ด้าน นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้ผ่านการพิจารณาออกเป็นกฎหมาย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2553 และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 21 พ.ค.2554 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของเด็กและสตรี และผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงสามารถยื่นคำร้อง ต่อศาลอาญา เพื่อขอให้มีคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนจากเดิมที่ผู้เสียหายต้องไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ โดยผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลด้วยตนเอง หรือยื่นผ่านมูลนิธิหรือทนายความ จากนั้นศาลจะทำการไต่สวน หากพบว่ามีมูลก็จะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ต่อผู้เสียหาย และแจ้งคำสั่งไปยัง 3 หน่วยงาน คือ 1.แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ที่ผู้เสียหายอาศัยอยู่ หากพบว่าผู้ถูกกล่าวหามีการกระทำรุนแรงอีกก็สามารถจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที 2.ยื่นคำสั่งไปยังผู้ถูกกล่าวหา ให้ยุติการกระทำรุนแรง และ3.แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ให้เข้ามาช่วยเหลือในการฟื้นฟูสภาพจิตใจ