“ประพันธ์” เชื่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นเดือน มี.ค. ระบุกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งจากเดิม 400 เขตมาเป็น 375 เขตเลือกตั้ง ต้องรอประกาศจำนวนราษฎร จากกรมการปกครอง ชี้ยังไม่เห็นเค้าลางยุบสภา คาดรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับเสียก่อน
วันนี้ (14 ก.พ.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หลังรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้งได้ยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.เสร็จแล้ว เบื้องต้นมี 31 มาตรา โดยใช้วิธีปรับปรุงจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ปี 41 เป็นหลักที่เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งในส่วนของ ส.ส.สัดส่วนตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มี 8 กลุ่มนั้นก็กลับมาใช้แบบบัญชีรายชื่อเช่นในปี 41 ทั้งนี้ กกต.เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 139 (3) สามารถเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภาได้ เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา กกต.ก็จะนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.เข้าที่ประชุม กกต.ลงความเห็นก่อนเสนอต่อรัฐสภา
ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องแบ่งเขตใหม่จากเดิม 400 เขตมาเป็น 375 เขตเลือกตั้งนั้น กกต.ต้องรอประกาศจำนวนราษฎรของปี 53 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศออกมา และ กกต.ก็ได้ส่งหนังสือไปสอบถามว่าจะประกาศได้เมื่อใด ซึ่งเมื่อได้จำนวนของราษฎรแล้ว กกต.จะนำตัวเลขมาคำนวณกับเขตเลือกตั้ง 375 เขตต่อไป โดยการแบ่งเขตต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง และต้องมีการประกาศให้ประชาชนรับทราบ เพื่อแสดงความคิดเห็นเสนอแนะ รวมทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ถึงการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด เพราะจำนวนของ ส.ส.ในบางจังหวัดจะลดน้อยลงอย่างไรก็ตาม หากนายกฯ ยุบสภาภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ แต่ยังแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ไม่แล้วเสร็จ กกต.ก็ต้องออกประกาศข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งโดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ซึ่งปรับปรุงจากร่างกฎหมายที่นำเสนอ ทั้งนี้ ตนคิดว่าการทำงานจะเร็วขึ้น เพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินการไปได้
“ผมคิดว่ายังไม่มีเค้าของการยุบสภา และนายกฯ ก็ยังไม่ได้หารือกับ กกต.ในเรื่องของการเลือกตั้ง เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลก็ควรต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับเสียก่อน หากยุบตอนนี้แล้วร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ต้องเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เป็นแบบเขตเดียว 3 เบอร์แทน อีกทั้งการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างแก้ไขนั้นก็ต้องใช้เวลา แต่ก็คิดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.”