“กกต.” คาด ร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ กกต.เสนอจะใช้เวลาพิจารณานานประมาณ 3 เดือน ลั่นหากยุบสภาก่อน เตรียมงัดร่าง รธน.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.2541 ออกประกาศแทน
วันนี้ (11 ก.พ.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระ 3 ว่า จากนี้ไปจะเป็นขั้นตอนในการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ไปยังสภา ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้ยกร่างไว้แล้ว โดย กกต.สามารถเสนอร่างกฎหมายได้โดยตรงต่อสภา ให้พิจารณาตามขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่ทั้งนี้ คงต้องรอรัฐบาลประสานมายัง กกต.ก่อนด้วย รวมทั้งขณะนี้คงต้องรอให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ ก่อนถึงจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังสภาเพื่อพิจารณาได้ รวมทั้งยังต้องรอดูการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผู้ยื่นร้องว่ากระบวนการมิชอบด้วยกฎหมายด้วยว่าจะมีผลอย่างไร
นายประพันธ์ กล่าวว่า คาดว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ กกต.จะเสนอจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการพิจารณา ซึ่ง กกต.ได้ยกร่างโดยยึดเนื้อหาของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.พ.ศ.2541 มาเป็นแบบในการยกร่าง เพราะจะต้องยึดเขตเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว เพียงแต่จะลดจำนวนเขตจาก 400 คน เหลือ 375 คน เท่านั้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กกต.ได้เตรียมการภายใน ในการแบ่งเขตเลือกตั้งคร่าวๆ ตามจำนวน 375 เขตแล้ว ซึ่งได้ให้ กกต.จังหวัด ได้ไปออกแบบ และทำประชาพิจารณ์ก่อนส่งมาให้ กกต.พิจารณา ซึ่งคาดว่า เขตเลือกตั้งในรูปแบบ 375 เขต จะออกมาทางการได้ภายหลังร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มา ซึ่ง ส.ว.ได้พิจารณาจากสภาเสร็จสิ้นจนมีผลบังคับใช้แล้ว
“นอกจากนี้ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังกำหนดบทเฉพาะกาลกรณี หากมีการยุบสภาในระหว่างร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ กกต.สามารถออกประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ซึ่ง กกต.จะนำเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.2541 ที่จะเสนอแก้ไขเป็นกฎหมายนำมาใช้เป็นประกาศของ กกต.แต่ กกต.ก็อยากให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่พิจารณาเสร็จแล้วก่อนจะมีการเลือกตั้ง แต่หากเกิดการยุบสภาเกิดขึ้นแล้ว กกต.จำเป็นต้องออกประกาศ กกต.แทน โดยยืนยันว่า จะไม่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองใด”