xs
xsm
sm
md
lg

แนะ สทศ.เน้นมาตรฐาน เพิ่มระบบคัดกรองออกข้อสอบเข้มข้น ห้ามเอาของเก่าออกซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.)
"ไชยยศ" ฝาก สทศ.ออกข้อสอบครอบคลุมเนื้อหาที่เรียน รับปัจจุบันวัดผลเชิงวิเคราะห์มากขึ้น แนะพิจารณาให้คะแนนเด็กเห็นต่างคำตอบจากเฉลยด้วยเหตุผล ป้องกัน นร.เสียประโยชน์ ด้าน คณบดีครุศาสตร์ จุฬาฯ จี้เน้นมาตรฐานข้อสอบ ระบุ ต่างประเทศผิดข้อเดียวถึงขั้นฟ้องศาล เสนอระบบคัดกรองเข้มข้น ยึดจรรยาบรรณ ห้ามเอาของเก่ามาออก

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ รร.เอเชีย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสัมมนาเชิงวิชาการพัฒนาการผลิตข้อสอบและการจัดสอบระดับชาติ โดยมี นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ประธานเปิดการสัมมนา พร้อมทั้งกล่าวว่า ภาระหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกข้อสอบ จะต้องคำนึงเสมอว่าการจัดทำข้อสอบ ไม่ใช่เพื่อวัดผล และประเมินว่าเด็กมีความสามารถแค่ไหนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องผลักดันให้กระบวนการเหล่านี้เกิดการจัดระบบการศึกษาใหม่ โดยให้เด็กรู้จักการคิดและวิเคราะห์มากขึ้น ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยที่ปัจจุบันข้อสอบต่างๆ เริ่มเป็นการวัดผลเชิงวิเคราะห์มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ในการเฉลยคำตอบหากเด็กมีความคิดเห็นที่ต่างไปจากเฉลย และมีเหตุผลก็ขอให้พิจารณาให้คะแนนแก่เด็ก โดยขอให้ดำเนินการโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เด็กเสียประโยชน์ในการนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ

“ผมขอให้การออกข้อสอบต่างๆ มีเนื้อหาอยู่ในที่เด็กเรียน เพราะที่ผ่านมาในการรับตรงของสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งออกข้อสอบเกินกว่าเนื้อหาที่เรียนในห้องเรียน ทำให้เด็กต้องทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชา แต่หากออกตามเนื้อหาที่เด็กเรียน ก็จะส่งผลดีให้แก่เด็กที่มีฐานะยากจน แต่เรียนดี ที่จะไม่เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบ อีกทั้งจะทำให้เด็กตั้งใจเรียนในห้องมากขึ้นด้วย” รมช.ศธ.กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเป้าหมายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ มาตรฐานและคุณภาพของข้อสอบ และแนวคิดเชิงทฤษฎี ว่า แบบทดสอบที่สร้างโดย สทศ.เป็นการสอบระดับชาติ จึงต้องมีมาตรฐานสูง ซึ่งแบบทดสอบที่ผิดเพียง 1 ข้อ อาจทำให้ข้อสอบ ที่เหลือขาดความชอบธรรมไปทั้งหมดก็ได้ การออกข้อสอบจึงต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้จริงมาออก ซึ่งต่างประเทศจะมีระบบตรวจสอบแบบทดสอบค่อนข้างเข้มงวด ขนาดผิดเพียง 1 ข้อ ก็มีการฟ้องร้องต่อศาลมาแล้ว

“สำหรับผู้ออกข้อสอบนั้น โดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการเก็บตัวผู้ออกข้อสอบ แต่เชื่อในเรื่องของคุณธรรมของผู้ออกข้อสอบมากกว่า เราจึงต้องมีระบบการคัดกรองที่เข้มข้น ซึ่งต่างประเทศคัดกรองถึงขนาดมีการตรวจสอบประวัติ นามสกุล ผู้ออกข้อสอบว่าในปีนั้นมีคนนามสกุลเดียวกันเข้าสอบด้วยหรือไม่ สำหรับประเทศไทยอาจยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ต้องคัดกรองอย่างระมัดระวัง ที่สำคัญการออกข้อสอบต้องยึดจรรยาบรรณ โดยห้ามลอกข้อสอบของผู้อื่น ซึ่งแม้แต่ข้อสอบที่เคยออกร่วมกับผู้อื่น ก็ไม่ควรนำมาออกเช่นกัน” คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น