เจ้าของรางวัลราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประเภทนักเรียน ยอมรับการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ทำให้มีการใช้ภาษาไทยสั้น ง่าย เข้าใจในกลุ่ม เช่น “ชิมิ” แต่เมื่อใช้แล้วต้องเข้าใจว่า มีความหมายที่แท้จริงมาจากคำว่า “ใช่มั้ย” และควรใช้ให้เหมาะกับสถานที่และบุคคล ด้าน นายกฯ ย้ำ ภาษาเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องใช้เหมาะสม ปีนี้มีผู้รับรางวัล 38 คน อาทิ แอน ทองประสม สายสวรรค์ ขยันยิ่ง และ ปัญญา นิรันดร์กุล ด้าน “มาร์ค” ย้ำ ภาษาเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องใช้ให้เหมาะสม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น พุทธศักราช 2553 ปีนี้เป็นปีที่ 3 มีผู้ได้รับรางวัล อาทิ ด.ญ.ณฐริณี เนื่องจำนงค์ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนกุญแจคริสเตียนวิทยา จ.ชลบุรี ได้รางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน น.ส.แอน ทองประสม ได้รางวัลประเภทนักแสดงโทรทัศน์ ผู้แสดงนำหญิง นายกันต์ กันตถาวร ได้รางวัลประเภทนักแสดงนำชาย นายนิรุตติ์ ศิริจรรยา ได้รางวัลประเภทผู้แสดงประกอบชาย น.ส.สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ได้รางวัลประเภทผู้ดำเนินรายการหญิง นายปัญญา นิรันดร์กุล ได้รางวัลประเภทผู้ดำเนินรายการชาย นอกจากนี้ ยังมีรางวัลประเภทนักเรียน ประเภทโรงเรียน ประเภทสถานีโทรทัศน์ รวมผู้ได้รับรางวัล 38 คน
ด.ญ.ณฐริณี เนื่องจำนงค์ ผู้ได้รางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน กล่าวถึงวิธีฝึกฝนการใช้ภาษาไทย ว่า ใช้ทั้งอ่านและเขียน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องไปด้วยกัน ในอนาคตต้องการทำงานด้านสื่อสารมวลชนเป็นผู้ประกาศข่าว ส่วนปัญหาการใช้ภาษาไทยของวัยรุ่นที่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์นั้น ยอมรับว่า ปัจจุบันมีการใช้ภาษาง่ายๆ ไว้คุยกับเพื่อน ตนเองก็ใช้คำว่า “ชิมิ” แต่จะใช้ในกระดานสนทนาเวลาคุยกับเพื่อน โดยต้องเข้าใจว่าความหมายของคำว่า คำว่า “ชิมิ” ที่ต้องการสื่อสาร คือ “ใช่มั้ย” เป็นต้น และต้องใช้ให้ถูกต้องกับกาลเทศะ
ด้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญของชาติ เชื่อว่า คนไทยทุกคนล้วนตระหนักในภาษาไทยที่มีการใช้สืบเนื่องมา 700 ปี ปัจจุบันการที่เราจะใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องนั้น ถูกท้าทายอย่างมากจากโลกที่มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น จึงมีการเชื่อมต่อกันทางวัฒนธรรม ทำให้เรารับอิทธิพลด้านภาษาจากวัฒนธรรมอื่น อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เน้นความรวดเร็ว กระชับ ทำให้ลักษณะภาษาเปลี่ยนแปลงไป คนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะพบความเป็นจริงว่าอาจจะมีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ตนเองยอมรับว่า ภาษาเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องต้องไม่ปิดกั้นพัฒนาการของภาษา แต่เราต้องสามารถแยกแยะการใช้ภาษาที่ถูกต้องได้เหมาะสมกับกาลเวลาและยุคสมัย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงโครงการมอบรางวัลครั้งนี้ ที่เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ เยาวชน ที่เป็นอนาคตของชาติ เป็นผู้กำหนดแนวทางของสังคมและบุคคลสาธารณะ เป็นกลุ่มที่ประชาชนสัมผัสการใช้ภาษามากที่สุด หากกลุ่มนี้เป็นแบบอย่างที่ดี ก็จะเป็นส่วนสำคัญ จึงแสดงความยินดีและชื่นชมผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคน พร้อมทั้งชื่นชมราชบัณฑิตยสถานที่จัดงานขึ้น