สธ.รับปากช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตยาสมุนไพรไทย ตั้งคณะกรรมการร่วมเอกชนและภาครัฐ เพื่อผลักดันให้โรงงานที่ได้รับมาตรฐานได้รับจีเอ็มพี และเตรียมพร้อมแข่งขันในตลาดยาสมุนไพรต่างชาติ ทั้งตั้งโรงงานยากลาง และจุดหน่วย one stop service ช่วยผู้ประกอบการในการผลิต และทดสอบมาตรฐานยา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโรงงานยาคั้นกี่น้ำเต้าทอง ผู้ผลิตยาสมุนไพรไทยว่า เพื่อต้องการรับฟังปัญหาและอุปสรรคการผลิตยาสมุนไพรส่งออก และการพัฒนามาตรฐานจีเอ็มพี รวมถึงการเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องการส่งออกยาสมุนไพร ส่วนใหญ่พบอุปสรรคเรื่องของการขึ้นทะเบียนตำรับ เนื่องจากในปี 2015 กำหนดให้โรงงานยาสมุนไพรต้องได้รับมาตรฐานจีเอ็มพี ทั้งหมด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับปากจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนภาครัฐและเอกชน เพื่อมาศึกษา ส่งเสริมธุรกิจสมุนไพรไทย และได้มีการกำหนดรายละเอียดของการพัฒนาสมุนไพรไทย พร้อมผลักดันมาตรการพัฒนายาสมุนไพร 10 ข้อด้วยกัน
1.ขอความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการร่วมผลิตสมุนไพรโดยนำเรื่องเกษตรอินทรีย์เข้ามาเกี่ยวข้อง 2.จัดตั้งโรงงานผลิตยากลางเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสมุนไพรขนาดเล็ก ที่ยังไม่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี นำผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ง่ายแก่การยอมรับและจำหน่าย โดยคาดใช้งบประมาณในการก่อสร้างโรงงานทั้งสิ้น 840 ล้านบาท 3.เตรียมจัดการประชุมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิต และแลกเปลี่ยนกับภาคเอกชน 4.จัดศูนย์วิเคราะห์กลาง เพื่อรับขึ้นทะเบียน และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร แบบ one stop service 5.การผลักดันให้ยาสมุนไพรไทย ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ
6.มีการกำหนดสมุนไพรแห่งปี เพื่อให้ปีนั้นๆ เกิดการพัฒนาสมุนไพร 7.การปรับปรุงการขึ้นทะเบียนยาสมุนไพร ให้เกิดความเข้าใจตรงกันและรวดเร็ว 8.จัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นกรณีการแยกยาสมุนไพรออกจาก พ.ร.บ.ยา 9.ให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกรวบรวมข้อมูลอัตตาลักษณ์ของสมุนไพรไทย และ 10.เร่งพัฒนาเรื่องของภาพรวมการผลิตสมุนไพร และเตรียมพัฒนาเพื่อให้พร้อมเข้าการพัฒนา เพื่อเข้าร่วมประชาคมอาเซียน
สำหรับสถานการณ์การขึ้นทะเบียนโรงงานยาสมุนไพรไทยปัจจุบัน มีโรงงานที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพีระดับอาเซียน 15 แห่ง สามารถจำหน่ายได้ทั้งในระดับอาเซียน และต่างประเทศ โรงงานที่ได้ใบประกาศจีเอ็มพี ผ่านมาตรฐานเบื้องต้น 37 แห่ง จากโรงงานยาสมุนไพรทั่วประเทศ 1,007 แห่ง