xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เปิดตัวตั๋วร่วมใบแรกของไทย เชื่อมบริการ BRT-BTS ด้วยตั๋วใบเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.เปิดตัวตั๋วร่วมรูปแบบใหม่ BRT-BTS เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างระบบขนส่งมวลชนครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่องาน “เชื่อมล้อ...เชื่อมราง...ด้วยตั๋วใบเดียว” พร้อมเดินหน้าก่อสร้างลิฟต์โดยสารผู้พิการเพิ่มเติมให้ครบทุกสถานี ในปี 2555 เพิ่มความสะดวกแก่คนพิการ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ใช้เก้าอี้ล้อเลื่อน ให้ทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้โดยไร้ข้อจำกัด

วันนี้ (14 ก.พ. ) ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เชื่อมล้อ...เชื่อมราง...ด้วยตั๋วใบเดียว” โดยมีคณะผู้บริหาร กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยนายกฤษณะ ละไล ผู้แทนผู้พิการ ร่วมพิธี ณ ลานอเนกประสงค์ทางเชื่อม BRT (สถานีสาทร) เขตสาทร หลังจากนั้น ได้ร่วมเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS สุรศักดิ์ เพื่อทำพิธีเริ่มงานก่อสร้างลิฟต์โดยสารผู้พิการ ซึ่งเป็น 1 ใน 19 สถานี ที่กรุงเทพมหานคร มีแผนจะดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเพิ่มเติมให้ครบทุกสถานี ในปี 2555 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้โดยไร้ข้อจำกัด
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กทม.ได้นำระบบตั๋วร่วมรูปแบบใหม่ที่ใช้เดินทางระหว่างรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT และรถไฟฟ้า BTS มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทาง โดยตั๋วร่วมรูปแบบใหม่เป็นระบบไร้สัมผัส (Contactless Smartcard) ประเภทสะสมมูลค่า (BTS Sky SmartPass) ซึ่งคิดค่าออกบัตร 30 บาท และสามารถเติมเงินได้ตั้งแต่ 100-2,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อใช้เดินทางด้วยรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT จะคิดอัตรา 10 บาทตลอดสาย และเมื่อใช้เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS จะคิดในอัตราปกติ 15-40 บาทตามระยะทาง ซึ่งบัตรโดยสารร่วมรูปแบบใหม่นี้ สามารถซื้อได้จากพนักงานขายบัตรประจำสถานี BRT และ BTS ทุกสถานี ส่วนการเดินทางเที่ยวเดียวสามารถซื้อตั๋วได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติชนิดหน้าจอสัมผัส (Touch Screen) ที่สถานี BRT ทุกแห่ง โดยรับเหรียญชนิด 1, 2, 5, 10 บาท และธนบัตรชนิด 20, 50 และ 100 บาท แล้วทอนเงินโดยอัตโนมัติ สำหรับลานอเนกประสงค์ทางเชื่อม BRT (สถานีสาทร) เขตสาทร มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ สร้างเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 14 ก.พ. 2554 เป็นทางเดินเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานี BRT สาทร กับ สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนแล้ว ยังสามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนและจัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนอีกด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กทม.ได้เริ่มงานก่อสร้างและติดตั้งลิฟต์โดยสารสำหรับคนพิการ ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS เพิ่มเติมอีก 56 ชุด ใน 19 สถานี คือ สายสุขุมวิท จำนวน 14 สถานี ประกอบด้วย สถานีสะพานควาย สถานีอารีย์ สถานีสนามเป้า สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีพญาไท สถานีราชเทวี สถานีชิดลม สถานีเพลินจิต สถานีนานา สถานีพร้อมพงษ์ สถานีทองหล่อ สถานีเอกมัย สถานีพระโขนง และสถานีอ่อนนุช สายสีลม จำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ สถานีราชดำริ สถานีศาลาแดง สถานีสุรศักดิ์ และสถานีสะพานตากสิน ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่จำนวน 19 ชุด ใน 6 สถานี คือ สถานีอโศก สถานีหมอชิต สถานีอ่อนนุช สถานีช่องนนทรี สถานีธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ เพื่อลดข้อจำกัดในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนของคนพิการ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ใช้เก้าอี้ล้อเลื่อน โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2555
กำลังโหลดความคิดเห็น