xs
xsm
sm
md
lg

พท.ไล่บี้ “คุณชาย” ท้าดีเบตปมต่อขยายสัมปทาน BTS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร
รองโฆษกเพื่อไทยท้าผู้ว่าฯ กทม. ดีเบตปมต่อสัญญาบีทีเอส 3 แสนล้าน ออกทีวี แฉ “เคที” กทม. ถือหุ้น 99.98% เป็นวิสาหกิจต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน เตรียมชงเข้า กมธ. ป.ป.ช. สภาฯ สอบ

วันนี้ (11 พ.ค.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวเรียกร้องให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. ออกมาชี้แจงกรณีที่ กทม.มอบหมายให้ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เซ็นสัญญากับบริษัทบีทีเอสซี จำกัด (มหาชน) ต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไปอีก 13 ปี ทั้งที่อายุสัมปทานยังเหลือ 17 ปี ซึ่งตนเห็นว่าการต่อสัญญาดังกล่าวคนกรุงเทพฯ ไม่ได้ประโยชน์ แค่เปรียบเทียบค่าโดยสารปัจจุบันในเส้นทางหมอชิต-สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ราคา 40 บาท ขณะที่จากหมอชิตไป
แบริ่ง ประชาชนต้องเสีย 2 ต่อ คือ 40 บาทเมื่อมาที่สถานีอ่อนนุช และต้องเสียอีก 15 บาทเพื่อต่อไปยังสถานีแบริ่ง รวมเป็น 55 บาท ทั้งที่บริเวณส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่และแบริ่งเป็นการลงทุนของ กทม.ทั้งสิ้น แต่ทำไมผู้ว่าฯ ถึงไม่เจรจาต่อรองกับบริษัทบีทีเอสซี ให้ประชาชนได้ประโยชน์เสียค่าโดยสาร 40 บาทเท่ากัน

นอกจากนี้ การต่อสัญญาดังกล่าวยังขัดต่อมาตรา 4 พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะอายุสัญญายังเหลืออีก 17 ปี การไปต่อสัญญาก่อนหมดอายุเท่ากับเป็นการกีดกันเอกชนรายอื่น อย่างเช่น บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ซึ่งบริหารรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบันก็มีความพร้อม อีกทั้งสัญญาสัมปทานเดิมระหว่าง กทม.กับบีทีเอส ระบุว่าการจะต่อสัญญาได้จะต้องทำภายใน 3-5 ปีก่อนหมดอายุสัญญา ซึ่งตนเชื่อว่าวันนั้น กทม.
จะมีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ ดังนั้น กทม.จึงพยายามเลี่ยงโดยใช้บริษัทกรุงเทพธนาคมแทน เพื่อจะได้ต่อสัญญาได้ทันที

นายยุทธพงศ์กล่าวต่อว่า ต้องการให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ออกมาชี้แจงว่าสถานะของ บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ คืออะไร เพราะตนเห็นว่าบริษัทดังกล่าวเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะ กทม.ถือหุ้น 99.98% ทำให้การทำสัญญาดังกล่าวต้องเข้า พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) แต่ กทม.พยายามหาช่องทางชี้แจงว่าเป็นวิสาหกิจ แต่เท่าที่ตนเปิดกฎหมายก็ไม่พบว่าหมายความว่าอย่างไร จึงอยากให้ผู้ว่าฯ กทม.ช่วยชี้แจง เพราะหากบริษัทกรุงเทพธนาคมมีสถานะเป็นเอกชน เราจะปล่อยให้ไปทำสัญญามูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเงินภาษีของชาว กทม.

“ในปี 2553 ยังพบว่าบริษัทกรุงเทพธนาคมมีการแก้ไขระเบียบพัสดุในข้อ 8 และ 9 ให้การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ไม่มีการกำหนดวงเงินขั้นต่ำ จึงเปิดช่องให้บริษัทกรุงเทพธนาคมทำสัญญามูลค่านับแสนล้านบาทได้ “ นายยุทธพงศ์กล่าว

นายยุทธพงศ์กล่าวต่อว่า ในวันที่ 14 พ.ค. ตนจะนำเรื่องดังกล่าวยื่นต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.
ร่วมทุนหรือไม่ นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกมาชี้แจงรายละเอียด หรือจะออกมาดีเบตเรื่องดังกล่าวกับตน ซึ่งตนจะไปขออนุญาตนายกฯ ให้เปิดช่อง 9 หรือช่อง 11 เพื่อถ่ายทอดเรื่องดังกล่าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น