xs
xsm
sm
md
lg

จี้ อย.ลงดาบ บ.เหล้า-เบียร์กว่า 30 ยี่ห้อทำผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ จี้ อย.ลงดาบบริษัทเหล้า-เบียร์ ไม่แก้ข้อความฉลากข้างขวด ตาม พ.ร.บ.คุมเหล้า หลังบังคับใช้เกือบ 3 ปี ชี้ สินค้ากว่า 30 ยี่ห้อ บริษัทยักษ์ใหญ่ ท้าทายกฎหมายติดฉลากห้ามขายต่ำกว่า 18 ปี ทั้งที่กฎหมายกำหนด 20 ปี พร้อมร่วมประณามบริษัทน้ำเมาทำผิดซ้ำซาก-เรียกร้องเคารพกฎหมาย ขณะที่ อย.รับเรื่องเตรียมเอาผิด ระบุมีโทษ ตาม พ.ร.บ.อาหารฯ โทษปรับ 3 หมื่น

วันนี้ (9 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนรู้ทันแอลกอฮอล์ และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนากว่า 30 คน เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อร้องเรียนปัญหาข้อความบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขัดแย้งกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมี น.ส.จิตรา เศรษฐอุดม นักวิชาการอาหารและยา เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร ผู้แทนจาก อย.รับเรื่องแทน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
น.ส.หทัยภัทร เกตุเลศศักดิ์ เครือข่ายเยาวชนรู้ทันแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ได้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาอย่างต่อเนื่อง และกว่า 3 ปีแล้ว ที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ซึ่งเพียงพอสำหรับการปรับตัวของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องทำตามกฎหมาย อีกทั้งกฎกระทรวงที่ว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 รวมถึงประกาศของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยรูปแบบข้อความคำเตือน ที่มีผลบังคับใช้ ยิ่งทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมดข้อโต้แย้งที่จะมากล่าวอ้างได้ ในเรื่องความไม่ชัดเจนของกฎหมาย

น.ส.หทัยภัทร กล่าวต่อว่า และเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.2553 ทางเครือข่ายฯ ได้ นำหลักฐานเหล้าเบียร์มากกว่า 30 ยี่ห้อ ที่ปรากฏฉลากห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่อมาเครือข่ายได้รับแจ้งว่า ความผิดดังกล่าว อยู่ในอำนาจของ อย.ทางเครือข่ายจึงเก็บหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเข้าร้องเรียนในวันนี้ อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบฉลากข้างขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเครือข่ายเยาวชน ระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ. 2554 ที่ผ่านมา พบปัญหาฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่วางขายตามท้องตลาดบางส่วน ยังมีการระบุข้อความ “ห้ามขายสุราแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี” ในขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในมาตรา 29 กำหนดว่า ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ ซึ่งในวันนี้ได้เกินกำหนดที่ อย.ได้ผ่อนผันไว้มากแล้ว

ด้าน นายวัชรา บัวทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่ามีความชัดเจนที่ฝ่ายธุรกิจได้ผลประโยชน์โดยตรง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะตกอยู่ที่เด็กและเยาวชน เพราะนอกจากฉลากข้างขวดจะทำให้เข้าใจผิดว่าอายุ 18 ปี ก็สามารถหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุชัดเจนว่าผิด อีกทั้งผู้ผลิตยังไม่ยอมแก้ไขข้อความ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการคงอ้างไม่ได้ว่าเป็นสินค้าเก่า และในเรื่องนี้ยังสร้างความสับสนในทางปฏิบัติกับบรรดาร้านค้าต่างๆอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการท้าทายกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดเจน เครือข่ายฯจึงขอแสดงจุดยืนและเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1. ขอให้มีการลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจและขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ยังท้าทายกฎหมาย โดยผลิตและขายสินค้าซึ่งไม่ได้แก้ไข ข้อความบนฉลาก ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และควรดำเนินการทันที เพราะละเว้นการปฏิบัติมาเกือบ 3 ปีแล้ว

นายวัชรา กล่าวต่อว่า ข้อ 2.ขอประณาม บริษัทที่ยังคงฝ่าฝืนไม่แก้ไขข้อความฉลากให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯ เป็นการท้าทาย และจงใจสร้างความสับสนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะเวลานานกว่า 3 ปี ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ บริษัทไม่อาจแก้ตัวได้ว่าธุรกิจปรับตัวไม่ทัน และขอเรียกร้องให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หยุดละเมิดกฎหมาย แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ด้วยการเคารพกฎหมาย ซึ่งเป็นพื้นฐานของ CSR มากกว่าการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพ แต่ขาดความรับผิดชอบ 3.เครือข่ายฯ พร้อมที่จะสนับสนุน และเฝ้าระวังการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีนี้ต่อไป เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และหากยังพบการกระทำผิด โดยไม่เกรงกลัวเช่นนี้อีก เครือข่ายจะพิจารณาดำเนินการในมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ขณะที่ น.ส.จิตรา กล่าวภายหลังจากรับเรื่องว่า อย.จะรับข้อเสนอและผลการดำเนินงานของเยาวชนเพื่อไปดำเนินการ เพราะหลักฐานชัดเจนว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหารและยา พ.ศ. 2522 มาตรา 6 (10) มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ทั้งนี้ในส่วนของคำเตือนที่ไม่ชัดเจน คงจะต้องประสานเพื่อขอความร่วมมือไปยังผู้นำเข้าและผู้ผลิต รวมถึงกรมสรรพสามิตเพราะเป็นต้นทางของการนำสินค้า เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินการกับสินค้าเหล่านี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีการควบคุมที่ต้นทางจะสามารถแก้ไขปัญหาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น