สสจ.ทั่วประเทศ หาแนวทางลดความแออัด ลดเวลาการรอคอยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ให้เหลือน้อยกว่า 3 ชั่วโมง และ ปรับระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วันนี้ (28 ม.ค.) ที่จังหวัดชลบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. และคณะผู้บริหาร เปิดประชุมอธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่จากทั่วประเทศ ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องมาระดมสมองในวันนี้ เพื่อแก้ปัญหาสำคัญตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการปรับปรุงโรงพยาบาลทุกแห่งให้เป็นโรงพยาบาลสาธารณสุขยุคใหม่ เพื่อคนไทยมีรอยยิ้ม หรือโรงพยาบาล 3 ดี ที่เน้นว่า อย่างน้อยที่สุดโรงพยาบาลจะต้องมีดี 3 ข้อ คือ บรรยากาศดี บริการดี บริหารจัดการดี โดยบริการดีจะเน้นทั้งสองด้าน คือบริการด้านการแพทย์ และบริการทั่วไป ซึ่งสิ่งที่ทำยากและเป็นการบ้านที่ทำยากที่สุด เป็นโจทย์ใหญ่ ก็คือการแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยที่มาใช้บริการมีจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มารับบริการได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น ลดเวลาการรอคอยน้อยลง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ เป็นที่มาที่ต้องมาระดมสมองกัน 2 วันเพื่อให้ได้คำตอบชัดเจนเป็นรูปธรรม
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยสิทธิในโครงการรักษาฟรี 48 ล้านคน ใช้บัตรประชาชนใบเดียว เข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 91 ส่วนที่เหลือร้อยละ 5 เข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่น และอีกร้อยละ 4 เป็นโรงพยาบาลเอกชน โดยปริมาณผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลทั่วไปมีเฉลี่ยวันละ 1,053 คน ส่วนโรงพยาบาลศูนย์มีเฉลี่ยวันละ 1,839 คน ระยะเวลาผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนับตั้งแต่มาถึงโรงพยาบาลจนกระทั่งรับยากลับบ้านใช้เวลาเฉลี่ย 2.5 ชั่วโมง บางคนก็น้อยกว่าและบางคนก็มากกว่า แต่ถ้าต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย ต้องบวกเวลาเพิ่มอีก 40 นาที และหากเอ็กซ์เรย์ก็ต้องบวกเพิ่มอีก 40 นาที รวมแล้วเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดความแออัดอยู่แล้ว เช่น การเพิ่มจุดบริการ หรือการเพิ่มเวลาในการให้บริการ หรือปรับการบริการ เช่น ในอนาคตโรงพยาบาลขนาดใหญ่ควรจะรับรักษาเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือโรคยากๆ ส่วนโรคทั่วไป เช่นมีอาการปวดหัวตัวร้อนจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลศูนย์หรือไม่ หรือควรเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาล 4 มุมเมือง รวมทั้งอาจมีการปรับปรุงระบบการส่งต่อ ผู้ป่วยโรคอะไร อาการแค่ไหน ที่สมควรส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลใหญ่ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องที่จะต้องมาหาคำตอบร่วมกัน เพื่อลดความแออัด และลดเวลาการรอคอย ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาลนานเกินความจำเป็น การแก้ไขปัญหาในอนาคต จะต้องเน้นการใช้ระบบการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้วยการใช้งบประมาณ ซึ่งภายใน 2 วันนี้จะได้รูปแบบในการแก้ปัญหา