รมช.สธ.เตือนผู้ปกครองระวังโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก หลังพบไวรัสโรทาเป็นสาเหตุของโรค สามารถติดต่อได้โดยการกินอาหาร น้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อ และมักพบมากสุดช่วงฤดูหนาว
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคท้องร่วงในเด็กเล็กเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งไวรัส แบคทีเรีย หรือพาราสิต ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังโรคท้องร่วงและการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ไวรัสโรทา เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคท้องร่วง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อกันได้ในระบบทางเดินอาหารโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน เชื้อไวรัสชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะเพิ่มจำนวนในเยื่อบุลำไส้เล็กและทำลายเยื่อบุลำไส้นั้นเป็นแผล ให้การทำหน้าที่ย่อยอาหารและดูดซึมสูญเสียไปก่อให้เกิดอาการท้องร่วง เสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เชื้อนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำทำให้ร่างกายเสียสมดุลจากการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุจากการท้องร่วง ซึ่งอาการจะรุนแรงมากในเด็กเล็กที่มีร่างกายอ่อนแอ และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ถ้าได้รับการรักษาพยาบาลไม่ทันการณ์ แต่โดยทั่วไปถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องและไม่มีอาการแทรกซ้อนของโรคอาการจะทุเลาลงภายใน 1 สัปดาห์
รมช.สธ.กล่าวอีกว่า จากการเฝ้าระวังโรคอุจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรทาทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งแต่ พ.ศ.2526 เป็นต้นมา พบว่าเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-11 เดือน เป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคและมีอุบัติการณ์สูงสุดในช่วงฤดูหนาว ซึ่งในช่วงหนาวเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ มีอุบัติการณ์สูงสุดถึงร้อยละ 75 ค่าเฉลี่ยสูงสุดของการเกิดโรคตลอดทั้งปีประมาณร้อยละ 35 ในระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่า ชนิดของซีโรทัยป์ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในเด็กไทยสูงสุด คือ ไวรัสโรทาซีโรทัยป์ 1 รองลงมา คือ ซีโรทัยป์ 4, 2 และ 3 ตามลำดับแต่ผลจากการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องพบว่าไวรัสโรทาซีโรทัยป์ 9 เริ่มเข้ามามีบทบาทที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2543 และพบสูงสุดในปี พ.ศ.2545 โดยพบอุบัติการณ์ของซีโรทัยป์ 9 สูงสุดถึงร้อยละ 25.8 รองลงมาคือ ซีโรทัยป์ 4,1 และ 3 พบร้อยละ 1.3, 0.3 และ 0.1 ตามลำดับ และในปี พ.ศ.2548 เริ่มพบไวรัสโรทา ซีโรทัยป์ 12 ในประเทศไทยอีกด้วย
ขณะที่ นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องจะทำให้ทราบแนวโน้มการระบาดของโรค และสามารถควบคุมและป้องกันโรคได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการที่จะพิจารณาในการนำชนิดของวัคซีนที่มีความครอบคลุมทุกซีโรทัยป์ที่เป็นสาเหตุของโรคอุจาระร่วงของเด็กไทยในอนาคต แต่การเลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมแม่นับเป็นการป้องกันโรคทางธรรมชาติที่ดีที่สุดเพราะน้ำนมแม่จะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้สู่เด็กโดยตรง อย่างไรก็ตามเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่จะลดลงทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ ดังนั้นให้รักษาความสะอาดของขวดนม ขวดน้ำ และอาหารของเด็กต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทานรวมทั้งหมั่นล้างมือด้วยสบู่นับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคดังกล่าว