กาฬสินธุ์ - “ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา” หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ระบุพบปัญหาประชาชนในภาคอีสานป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูงในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชน แต่เชื่อมั่นแผนการแก้ปัญหาของกองทุนสุขภาพชุมชนจะทำให้คุณภาพชีวิตคนอีสานดีขึ้น
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (25 ม.ค.) ที่โรงแรมริมปาว จ.กาฬสินธุ์ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการจัดเวทีมหกรรมสานพลังกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นของกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ในหัวข้อ “การจัดการโรคเรื้อรัง เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง การดูแลผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชน” เขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 12 พร้อมทั้งมอบประกาศเกียรติคุณให้แก่เจ้าหน้าที่ และองค์กรที่มีผลงานดีเด่น
พร้อมกันนี้ มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการกองทุนสุขภาพชุมชน บุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลตำบล ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครจาก จ.กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และจ.ขอนแก่น เข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยมี นพ.พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ รายงานแนวทางการทำงาน
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ เป็นเขตพื้นที่เดียวที่สามารถดำเนินการจัดตั้งกองทุนสุขภาพชุมชนได้ครบ 100% ทุกแห่ง รวมทั้งหมด 718 แห่ง ซึ่งปัจจุบันพบว่าคนอีสานมีปัญหาด้านสุขภาพทั้งโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชน แต่จากการความประสานความร่วมมือด้วยสัมพันธภาพที่ดีของทีมงานในพื้นที่ทุกระดับทำให้สามารถสร้างผลงานความสำเร็จ ทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการดูแลสุขภาวะของประชาชน สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพ มีโอกาสเข้าร่วมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันได้รับการดูแลที่ดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน ไม่มีความพิการ ผู้สูงอายุมีความสุข ตลอดจนผู้พิการได้รับการดูแลที่ดี ไม่ถูกทอดทิ้ง
นพ.สุพรรณกล่าวอีกว่า สำหรับเวทีมหกรรมสานพลังกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ในหัวข้อ “การจัดการโรคเรื้อรัง เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง การดูแลผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชน” เขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 12 ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพชุมชน และแลกเปลี่ยนการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีคุณภาพและบูรณาการมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองทุนปัจจุบันมีโรงพยาบาลประจำตำบล ซึ่งได้ร่วมกันรณรงค์รักษาสุขภาพโดยคนในชุมชนตามแนวทางของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขเชื่อมั่นว่าในอนาคตการจัดการด้านสุขภาพจะถูกดูแลโดยคนในชุมชนและจะทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นอย่างแน่นอน