xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนุน สคบ.เดินหน้าโปรเจกต์ “ฉลากครบ โฆษณาไม่ผิด พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนุน สคบ.เดินหน้าโครงการ “ฉลากครบ โฆษณาไม่ผิด พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค” พร้อมเรียกร้องผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ และขยายผลให้ครอบคลุมห้างสรรพสินค้าทั้งหมด

นายพชร แกล้วกล้า เจ้าหน้าที่งานสนับสนุนเครือข่ายฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในกรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาด้านฉลาก ว่า มูลนิธิได้มีการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ดำเนินการดำเนินโครงการ “ฉลากครบ โฆษณาไม่ผิด พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค” ร่วมกับห้างสยามแม็คโคร เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายสินค้า ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมจัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ใช้โฆษณาที่เป็นเท็จ หรือเกินจริง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในข้อมูล โดยออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ให้ความร่วมมือ ให้ครอบคลุมทุกค่ายในตลาดโดยเร็วเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากอย่างแท้จริง

นายพชร กล่าวด้วยว่า ในแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมูลนิธิ ได้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมใน 4 ส่วน คือ 1.ฉลากสินค้านำเข้า ขาดความสมบูรณ์ เป็นภาษาต่างประเทศที่อ่านยาก เข้าใจยาก หรือฉลากที่ผสมกันระหว่างภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ เช่น ชื่อสินค้าและวันเดือนปีที่ผลิตเป็นภาษาต่างประเทศ ขณะที่ส่วนอื่นๆ เป็นภาษาไทย 2.ฉลากแสดงข้อมูลที่สำคัญและบังคับต้องแสดงตามกฎหมายไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีวันผลิต ไม่มีวันหมดอายุในกรณีที่เป็นสินค้าที่หมดอายุได้ ไม่ระบุราคาสินค้าหรือราคาสินค้าบนฉลากกับบนชั้นวางสินค้าไม่ตรงกัน และแสดงเบอร์โทรศัพท์ติดต่อผู้ผลิตแต่ไม่แสดงชื่อผู้ผลิตและสถานที่ผลิต เป็นต้น 3.ตำแหน่งที่อยู่ของฉลากอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก อ่านยาก ตัวอักษรมีขนาดเล็ก หรือฉลากด้านในกับฉลากด้านนอกในกรณีที่เป็นสินค้าแบ่งบรรจุไม่ตรงกัน เช่น กรณีกระเช้าของขวัญ เป็นต้น 4.ฉลากมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณ หรือสื่อให้เข้าผิดเกี่ยวกับคุณภาพและคุณประโยชน์ของสินค้านั้นๆ ของสินค้าบนฉลาก

“อยากให้ สคบ.เข้มงวด และปรับอัตราสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมายฉลากกับผู้ประกอบการทุกราย โดยฉลากสินค้าต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้บริโภคอย่างครบถ้วน ต้องเป็นภาษาไทยทั้งหมด มีการระบุอายุการใช้งานที่ชัดเจน มีวันผลิต และมีวันหมดอายุหากเป็นสินค้าที่เสื่อมสภาพง่าย อ่านได้ง่าย อยู่ในจุดที่เห็นได้ง่าย มีวิธีการใช้งาน บอกว่า ทำมาจากอะไร มีข้อควรระวังที่ชัดเจน และต้องไม่มีการให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค ทั้งบนฉลากและนอกฉลากด้วย” นายพชร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น