กาฬสินธุ์-สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดกาฬสินธุ์เร่งรณรงค์ให้ความรู้การใช้ยาให้กับประชาชน
วันนี้( 6 ส.ค.)ที่หอประชุมธรรมาภิบาลเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นางประคำ ศรีสมชัย หัวหน้าศูนย์สปสช.จังหวัดกาฬสินธุ์ นายกฤษฎา แจ่มสุวรรณ หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดกาฬสินธุ์ นายปริญญา กองกาย เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นางอำนวย ศรีสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนฟองแก้วพร้อมด้วยตัวแทนภาคประชาชนร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการตามโครงการรณรงค์การใช้ยา “ยาชื่อสามัญ...ชื่อสามัญทางยา” เพื่อถ่ายทอดและให้ความรู้ในการใช้ยาให้กับประชาชน
นางประคำ ศรีสมชัย หัวหน้าศูนย์สปสช.จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้ยาโดยไม่รู้จักชื่อจริงๆหรือที่เรียกว่าชื่อสามัญทางยา แต่กลับไปรู้จักแต่ชื่อการค้า หรือที่เรียกว่าชื่อยี่ห้อ ทำให้เกิดปัญหาใช้ยาซ้ำซ้อนโดยไม่รู้ตัว
จนบางครั้งได้รับยาเกินขนาด หรือเกิดการแพ้ยาซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่รู้ว่าแพ้ยาอะไร บางครั้งเกิดอันตรายจนเสียชีวิต
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสถานการณ์การเขียนชื่อสามัญทางยาของหน่วยบริการจำนวน 301 ตัวอย่างพบว่า มีการเขียนวิธีการใช้ยาบนซองยาและเขียนชื่อสามัญทางยา 90 % มากกว่าเขียนชื่อทางการค้า 21 % เขียนข้อควรระวังไว้บนซองยาจำนวนน้อยคือ 25 % แต่ให้ข้อมูลโดยผู้จ่ายยามากกว่า 71 % มีหน่วยบริการอีกกว่า 30 % ที่ไม่ได้ชี้แจงข้อควรระมัดระวัง ทำให้คนไข้ขาดข้อมูลจำเป็นในการใช้ยา
ดังนั้นศูนย์สปสช.จังหวัดกาฬสินธุ์จึงร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนฟองแก้วจัดโครงการรณรงค์การใช้ยา “ยาชื่อสามัญ...ชื่อสามัญทางยา” เพื่อถ่ายทอดและให้ความรู้ในการใช้ยาให้กับประชาชน
ด้านนายกฤษฎา แจ่มสุวรรณ หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การใช้ยาที่ดี ก่อนรับยาต้องกล้าถาม โดยผู้บริโภคจะต้องตั้งสติก่อนจะรับยามาใช้ซึ่งจะต้องซักถามให้ชัดเจน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ชื่อสามัญทางยาคืออะไร มียาชื่อสามัญเดียวกันหรือไม่ ยี่ห้ออะไรบ้าง ราคาต่างกันอย่างไร 2.ยานี้มีสรรพคุณหรือรักษาโรคอะไร 3.ยานี้ใช้อย่างไร เช่น ต้องใช้ให้ถูกคน ถูกวิธี ถูกเวลา ถูกขนาด 4.ยานี้ต้องระวังอย่างไร หมายถึงคำเตือน ข้อห้าม ข้อควรระวังต่างๆและ5.หากรับยาจากร้านขายยาแผนปัจจุบันให้ถามว่าเภสัชกรอยู่หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าร้านขายยาแผนปัจจุบันทุกแห่งต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดจำหน่ายยา หากไม่พบให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสภาเภสัชกรรมได้ทันทีและที่สำคัญต้องอ่านฉลากยาก่อนใช้ทุกครั้ง