วธ.หนุนไร่หมุนเวียน เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ของยูเนสโก ชี้ เป็นองค์ความรู้ที่ทำให้ชาวเขา ชาวกะเหรี่ยง มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เผย ปัจจุบัน ปชช.ยังเข้าใจผิดว่าไร่หมุนเวียนเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แท้จริงคือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
วันนี้ (26 ม.ค.) นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ม.ค.ตนในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการการนำเสนอไร่หมุนเวียน เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จะมีการเชิญนักวิชา เข้าร่วมประชุมหารือแผนการนำเสนอไร่หมุนเวียน เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้การแก้ปัญหากะเหรี่ยงเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้วธ.ดำเนินการ 2 เรื่อง ดังนี้ 1. การจัดตั้งเขตวัฒนธรรมพิเศษ 2.การนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับไร่หมุนเวียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะเป็นการหารือในเบื้องต้นว่าองค์ความรู้ไร่หมุนเวียน จะเข้าเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนดหรือไม่
นายสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับไร่หมุนเวียน เป็นองค์ความรู้ที่พัฒนาให้ชาวเขา ชาวกะเหรี่ยง มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีกระบวนการส่งเสริมวิถีชีวิตที่น่าสนใจ และปัจจุบันประชาชนหลายส่วนยังเข้าใจผิดว่า การทำไร่หมุนเวียน เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่จริงเป็นวิธีการอยู่รวมกันกับธรรมชาติแบบยั่งยืน โดยการทำไร่หมุนเวียน เป็นระบบการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงมีการหมุนเวียนใช้เวลาประมาณ 7-10 ปี เพื่อทำให้ระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปเหล่านั้นมีการฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิม ซึ่งในไร่จะมีการปลูกพืชหลายชนิด เช่น พันธุ์ข้าวประมาณ 2-3 ชนิด ถั่วประมาณ 2-3 ชนิด แตงกวา ฟักทอง ฟักเขียว เครื่องเทศหลายชนิด นอกจากนี้ วธ.ได้เชิญ ศ.คุณหญิง แม้นมาส ชวลิต ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย
“การประชุมจะนำเกณฑ์ของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงแห่งโลก มาพิจารณาว่า เราควรจะต้องทำข้อมูลองค์ความรู้ กระบวนการ ทำไร่หมุนเวียน ให้เข้าเกณฑ์ที่ยูเนสโก รวมทั้งจะต้องนำข้อมูลทางวิชาการที่มีการศึกษาวิจัยมาก่อนหน้าที่ มาประกอบการจัดทำข้อมูลด้วย อย่างไรก็ตาม หลักจากที่หาสรุปข้อมูลทั้งได้แล้ว คาดว่า จะนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกในเร็วๆ นี้” ปลัด วธ.กล่าว