“ชินภัทร” รับเด็ก ป.1-6 เรียน 8 กลุ่มสาระเยอะเกินไป เล็งปรับลดหลักสูตร เน้นหน้าที่พลเมือง คุณธรรม จริยธรรมให้ชัดขึ้น พร้อมนำข้อเสนอหารือลดโครงสร้างหลักสูตร ม.ปลาย เหลือ 5 เทอม จาก 6 เทอม เข้าที่ประชุม กพฐ. เตรียมผุด OBEC Channel จัดครูเก่ง สอนดี ลงจอโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม หวังพัฒนาโรงเรียนเล็ก
วันนี้ (25 ม.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้เตรียมหารือในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับทราบข้อมูลในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ฉบับปรับปรุง 2551 อีกทั้งขณะนี้มีเอกสารทางวิชาการต่างประเทศ เรื่อง Curriculum 21 ได้ตั้งคำถามที่ท้าทายว่าหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันรองรับการเตรียมพลเมืองประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้าหรือไม่ และสามารถเตรียมประชาชนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่ ถึงแม้ว่า สพฐ.จะมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมาแล้วในปี 2551 แต่ก็เป็นหลักสูตรที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2544 ดังนั้น ตนคิดว่า มีแนวโน้มที่จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน เพราะก่อนหน้านี้มีการเสนอข้อคิดเห็นจากกรรมการ กพฐ.ว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบันกำหนดกลุ่มสาระวิชาไว้ 8 กลุ่มทำให้เด็กในช่วงชั้นที่ 1 และ 2 หรือระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 เรียนเยอะมากเกินไปทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ควรเรียนครบทั้งหมดทุกกลุ่มสาระวิชา แสดงว่า หลักสูตรที่กำหนดไว้อาจจะมากไป จึงควรต้องลดการเรียนในช่วงชั้นดังกล่าวลง ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ก็ควรต้องกำหนดจุดเน้นที่ต่างกัน เช่น ภาษาต่างประเทศ การทำโครงงาน เป็นต้น
“การจัดกระบวนการศึกษาต้องสอดรับกันตั้งแต่การจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ในปัจจุบันมีหลายเรื่องที่สังคมมักจะสะท้อนมาว่าทำไม่วิชานั้น วิชานี้ไม่มีเรียนทั้งที่จริงแล้วก็มีการสอนในวิชาต่างๆ เช่น วิชาหน้าที่พลเมือง คุณธรรมจริยธรรมที่จะสอดอยู่ในวิชาสังคม ผมคิดว่า จะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาทบทวนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อกำหนดให้วิชาเหล่านี้มีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องให้ที่ประชุม กพฐ.เป็นผู้พิจารณาว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในประเด็นเหล่านี้ หรือประเด็นอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนกรณีที่นักเรียนบางคนนำเสนอให้ปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้เหลือเพียง 5 ภาคเรียนเนื่องจากปัจจุบันนักเรียนจะมีเวลาว่างในภาคเรียนที่สองของชั้น ม.6 นั้น ตนก็จะนำเสนอเข้าหารือในที่ประชุมด้วย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้หารือการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 14,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะขาดแคลนบุคลากรผู้สอนในกลุ่มสาระต่างๆ ซึ่งในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 สพฐ.จะใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตที่ได้จัดให้กับทุกโรงเรียนอยู่แล้ว โดยจะเพิ่มช่องทางโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นอีกหนึ่งช่องสัญญาณ ทำเป็น OBEC Channel ขึ้นมาซึ่งจะคัดครูเก่งมีผลงานดีเด่น เช่น ครูดีในดวงใจมาเป็นวิทยาการผู้สอน จะเน้นวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ส่วนรูปแบบรายการจะมีความหลากหลาย อาทิ สารคดี ข่าวการศึกษา เกมการศึกษา การนำเสนอรูปแบบโครงงานการสอน เชื่อว่า จะทำให้ครูในโรงเรียนขนาดเล็กได้พัฒนาไปในตัวด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มมาก เพราะ สพฐ.มีการจัดระบบอินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียนอยู่แล้ว