ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้จัดตั้ง “สถานีตำรวจสุวรรณภูมิ” ในรูปแบบสถานีตำรวจกรณีพิเศษ สังกัด บช.ภ.1 โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้ง การแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจไปประจำโรงพักเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งบุคคลากรจะต้องพูดภาษาต่างประเทศได้
วันนี้ (11 ม.ค.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (11 ม.ค.) มีมติตั้งสถานีตำรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อดูแลปัญหาให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีการถกเถียงเรื่องรูปแบบที่เหมาะสม ว่า จะเป็นสถานีตำรวจอิสระ หรือสถานีตำรวจท่องเที่ยว แต่ท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งในรูปแบบสถานีตำรวจกรณีพิเศษ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปกำหนดหลักเกณฑ์ รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรเป็นกรณีพิเศษ ที่มีความรู้ ความสามารถ พูดภาษาต่างประเทศได้ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจภูธรภาค 1 และใช้งบประมาณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงบประมาณ และการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมที สถานีตำรวจสุวรรณภูมิ (Airport Police) ดังกล่าว มีการวางโครงสร้างไว้ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะให้อยู่ในสังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งจะจัดตั้งเป็นเป็นสถานีตำรวจรูปแบบพิเศษ เทียบได้กับสถานีตำรวจขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อภารกิจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม อำนวยความสะดวกด้านการจราจร รวมถึงบริการนักท่องเที่ยว ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีพื้นที่รับผิดชอบกว่า 2 หมื่นไร่
การจัดวางกำลังได้คำนึงถึงภาระงานที่รับผิดชอบที่ต้องดูแลความปลอดภัยสถานที่ การรับเสด็จฯ รวมถึงชีวิตและทรัพย์สินขอผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบิน โดยแบ่งเป็นงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม งานด้านการสืบสวนคดีอาญา งานการการสอบสวน งานด้านการจราจรในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และงานด้านการอำนวยความสะดวกและบริการนักท่องเที่ยว และมีชุดปฎิบัติการพิเศษ 1 ชุด มีนายตำรวจระดับสารวัตร เป็นหัวหน้า
สถานีตำรวจสุวรรณภูมิ มีอัตรากำลัง จำนวน 278 นาย มีผู้กำกับการ ทำหน้าที่หัวหน้าสถานี(ยศ พ.ต.อ.) 1 นาย รองผู้กำกับการฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (ยศ พ.ต.ท.) 2 นาย สารวัตรฝ่ายป้องกัน และปราบปราม 2 นาย สารวัตรฝ่ายสืบสวนสอบสวน 1 นาย สารวัตรฝ่ายอำนวยการ 1 นาย สารวัตรทำหน้าที่หัวหน้าชุดปฎิบัติการพิเศษ 1 นาย มีพนักงานสอบสวนจำนวน 10 นาย มีพนักงานสอบสวน (สบ3) 1 นาย เป็นหัวหน้า
การจัดวางกำลังระดับผู้ปฏิบัติ จำแนกเป็น ฝ่ายอำนวยการ 17 นาย ฝ่ายสืบสวน 37 นาย ฝ่ายป้องกันและปราบปราม 126 นาย ฝ่ายจราจร 26 นาย และชุดปฏิบัติการพิเศษ 54 นาย
สำหรับชุดปฏิบัติการพิเศษ มีนายตำรวจระดับสารวัตรเป็นหัวหน้าชุด ทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการเผชิญเหตุเฉพาะหน้า หรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่น กลุ่มผู้ชุมนุม ที่มาปิดล้อมสนามบิน เป็นต้น ซึ่งกำลังชุดนี้จะเข้าระงับเหตุ ก่อนที่กำลังเสริมจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จะมาถึง ส่วนภารกิจด้านการจราจรจะรับผิดชอบเฉพาะพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน ทางเชื่อมอาคารผู้โดยสารต่างๆ ซึ่งจะมีนายตำรวจระดับรองสารวัตรเป็นหัวหน้า
เดิมทีกองกำกับการ 6 บก.ทท.มีกำลังเพียง 50 นาย ทำหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวภายในท่าอากาศสุรรณภูมิ ส่วนภารกิจด้านการป้องกันและปราบปราม การสืบสวนคดีอาญา การสอบสวนคดีอาญา การอำนวยการจราจร เป็นความรับผิดชอบของ สภ.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีกำลังตำรวจเพียง 170 นาย แต่มีภาระหน้างานที่รับผิดชอบอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง
การจัดตั้งสถานีตำรวจสุวรรณภูมิ จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการบริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว หรือ One Stop Service นอกจากนี้มีการปรับปรุงเรื่องสถานที่ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือให้มีความทันสมัย โดยเฉพาะห้องควบคุมตัวผู้ต้องหาที่จะมีการปรับปรุงให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีลักษณะของความเป็นสากลด้วย