xs
xsm
sm
md
lg

กรมท่องเที่ยว เร่งงานเชิงรุก พัฒนาบุคคลกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กรมการท่องเที่ยว เล็งตั้งสถาบันพัฒนาบุคคลากรท่องเที่ยว ทำงานเชิงรุก ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยว แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ชุมชน แก้ปัญหาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม พร้อมจัดอบรมเพิ่มขีดความสามารถบุคคลากร การจัดทำมาตรฐานท่องเที่ยว เตรียมพร้อมรับศึกเปิดเสรีอาเซียนภาคบริการ ในอีก 4 ปีข้างหน้า

นายอานุภาพ เกษรสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายสุพล ศรีพันธ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเตรียมจัดตั้ง "สถาบันพัฒนาบุคคลากรด้านการท่องเที่ยว" คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ภายในปี 2555

จุดประสงค์การจัดตั้งสถาบันดังกล่าว เพื่อเป็นศูนย์ในการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ กับผู้ประกอบการ บุคคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ ผู้ที่สนใจจะเข้าสู่อาชีพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้มีความรู้และเข้าใจในทุกเรื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งแบบองค์รวม และ แยกรายประเภทสาขาวิชาชีพ เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของการสร้างมาตรฐานแห่งท่องเที่ยว ,กระบวนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ เจ้าหน้าที่องค์กรปกคอรงท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล(บบต.) องคืการบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดจนประชาชนในชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ย นอกจานกั้น สถานบันดังกล่าวนี้ จะจัดคอร์ส อบรมความรู้ด้านอื่นๆ เช่น การจัดอบรมภาษาต่างประเทศ และความรู้ด้านงานบริการ

อย่างไรก็ตาม กรมการท่องเที่ยวมีความคาดหวังว่า หลังการตั้งสถาบันฯดังกล่าว และ มีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคคลกร จะช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการ และ มาตรฐานท่องเที่ยวของประเทศไทยให้สูงขึ้น ในระดับสากล และมีความพร้อมที่จะรับมือกับการแข่งขันภายหลังการเปิดเสรีอาเซียนภาคบริการ ซึ่งจะเริ่มในปี 2558

"ปัญหาของไทยขณะนี้ คือ เจ้าของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ยังไม่รู้จักวิธีบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ของตัวเอง ขาดการดูแล ขาดการพัฒนา ผลตามมาคือแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม แต่หน้าที่ของสถาบันที่จะตั้งขึ้นนี้ จะทำงานเชิงรุก เข้าไปฝึกอบรมคนในพื้นที่ให้รู้และเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากร จากนั้น สำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จะเข้าไปฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณไม่สูญเปล่า เพราะเจ้าของพื้นที่จะรู้วิธีที่จะดูแลรักษา ให้ยั่งยืนตลอดไป"

ทางด้านนายสุพล ศรีพันธุ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2554 ทางกรมฯได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยว อีก 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐานการให้บริการแพสำหรับนักท่องเที่ยว และมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวผจญภัย(แอ๊ดเวนเจอร์ พาร์ค) รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ชื่นชอบแนวผจญภัย นอกจากนั้นยังมีเรื่องการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานบริการท่องเที่ยว 10 มาตรฐาน, ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว 8 มาตรฐาน, ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย 1,000 คน, ส่งเสริมและพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรองรับ 1 ครั้ง, ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย และมอบเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมศกนี้

สำหรับงานของกรมการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมาได้จัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ไป 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐานศูนย์บริการข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวและมาตรฐานบ้านพักธรรมชาติ (อีโค ลอดจ์), ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยว 17 มาตรฐาน รวม 389 แห่ง, ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย 15 ครั้ง รวม 976 คน, ส่งเสริมพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรับรอง 1 ครั้ง รวม 60 คน และมอบเครื่องหมายรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย 1 ครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น