xs
xsm
sm
md
lg

“นิพิฏฐ์” สั่งกรมศิลป์ เร่งตรวจสอบวังพญาไทด่วนหลังพบชำรุดหลายจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.วัฒนธรรม เป็นห่วงวังพญาไทอาคารเก่าแก่ ที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มชำรุดทรุดโทรม สั่งกรมศิลปากรเร่งเข้าไปสำรวจและเสนอของบประมาณบูรณะซ่อมแซมด่วน เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาด้านสถาปัตยกรรมของไทยและประวัติศาสตร์ไทยอันยาวนาน

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการเข้าเยี่ยมชมวังพญาไท พบว่าพระราชวังที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของเมืองไทยกำลังอยู่ในสภาพทรุดโทรม บางอาคารเพดานเริ่มหลุดลอก ตัวอาคารหลายอาคารอยู่ในสภาพชำรุด โดยเฉพาะตัวโครงอาคารที่เป็นไม้ ดังนั้น หากไม่เร่งดำเนินการซ่อมแซม อาจทำให้ตัวอาคารเสียหายมากขึ้น จึงมอบหมายให้กรมศิลปากรเร่งเข้าไปดำเนินการสำรวจความชำรุดของอาคารทั้งหมด เพื่อของบประมาณในการบูรณะซ่อมแซมโดยเร่งด่วน โดยเน้นย้ำให้ทันงบประมาณในปี 2555 เนื่องจากพระราชวังดังกล่าวมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งยังเคยเป็นที่ประทับของมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ไทยหลายพระองค์
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ประทับในการเสด็จทอดพระเนตรการทำนา ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ และเมื่อสวรรคตยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักที่ประทับและอาคารบริวาร ให้สร้างหมู่พระราชมณเฑียร และพระราชทานนามว่า ไวกูณฐเทพยสถาน ศรีสุทธนิวาส และอุดมวนาภรณ์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ส่วนหนึ่งของพระราชวังเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง ถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัส และเป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ” นายนิพิฏฐ์กล่าว

ด้าน นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน มอบหมายให้กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักโบราณคดี ลงพื้นที่สำรวจพระราชวังพญาไท โดยละเอียดว่ามีความเสียหายส่วนใดบ้าง และจะต้องดำเนินการซ่อมแซมอย่างไร โดยจะต้องมีการเขียนแบบในการอนุรักษ์ใหม่ รวมไปทั้งรายละเอียดในเรื่องของงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาระยะหนึ่ง จึงจะได้ข้อสรุปทั้งหมด โดยจะมีการติดตามผลเป็นระยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น