เลือกตั้งแพทยสภา เงียบเหงา มีหมอลงคะแนนเสียงเพียง 1 หมื่น จากผู้มีสิทธิ์ 4 หมื่นคน ด้านกลุ่มผู้สมัครเดินหน้าประชาสัมพันธ์นโยบาย “ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์” ชูแผนเด่น มุ่งพัฒนาการศึกษาแพทย์-ส่วน “แพทย์ไทยสามัคคี” ยันไม่เอา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วย หวังคะแนนจากแพทยอาวุโส
วานนี้ (12 ม.ค.) นพ.พรณรงค์ โชติวรรณ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ.2554-2556 กล่าวถึงความคืบหน้าการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่แทนชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในวันที่ 31 ม.ค.2554 ว่า การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาครั้งนี้ มีผู้สมัครทั้งสิ้น 59 คน แต่ถอนตัวไป 2 คน เหตุเพราะติดภารกิจส่วนตัว ไม่สะดวกในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการแพทยสภา คือ นพ.ถวัลย์ พบลาภ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) จ.นครปฐม ผู้ลงสมัครเบอร์ 39 และ นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นพ.สสจ.น่าน ผู้ลงสมัครเบอร์ 40 ทั้งนี้ การถอนตัวดังกล่าวไม่มีผลอย่างไรกับหมายเลขของผู้สมัครอื่นๆ เนื่องจากจะมีการเว้นว่างไว้
นพ.พรณรงค์ กล่าวด้วยว่า คณะอนุ กก.เลือกตั้ง ได้พิจารณาการลงคะแนนเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงคะแนนเสียงส่งมายังแพทยสภาแล้วทั้งสิ้น 10,000 คะแนน จากแพทย์ทั้งหมดราว 40,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนน้อย จึงอยากเชิญชวนให้บุคลากรทางการแพทย์ให้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภาผู้ลงสมัครเลือกตั้งกลุ่มชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) กล่าวว่า จากการที่แพทยสภาได้ดำเนินการส่งบัตรเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาวาระใหม่ (พ.ศ.2554-2556) ให้กับสมาชิกแพทยสภา จำนวนประมาณ 37,000 คน ปรากฏว่า จนถึงวันที่ 12 ม.ค.2554 มีสมาชิกแพทยสภาส่งบัตรเลือกตั้งคืนกลับมายังแพทยสภา 9 พันฉบับ หรือคิดเป็น 24.3% ขณะที่จำนวนสมาชิกใช้สิทธิเลือกตั้งในวาระก่อนหน้านี้ ประมาณ 1.2 หมื่นคน หรือราว 32% แต่เชื่อมั่นว่าในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งจะเป็นวันปิดการลงคะแนนเสียงจะมีสมาชิกแพทยสภาส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งกลับคืนราว 1.4-1.5 หมื่นฉบับ
“ปัจจัยที่ส่งผลให้สมาชิกแพทยสภาส่งบัตรเลือกตั้งคืนน้อย เนื่องจากการส่งบัตรเลือกตั้งจากแพทยสภาไปให้แพทย์นั้นจะส่งไป ณ ที่อยู่ที่แพทย์แจ้งไว้กับแพทยสภา แต่ในความเป็นจริงสมาชิกแพทยสภาทั้ง 74 สาขามีการเคลื่อนย้ายที่ทำงาน เมื่อส่งบัตรลงคะแนนไปยังที่อยู่ดังกล่าว จดหมายจะส่งคืนโดยไม่มีผู้รับ หรือบางครั้งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่สมาชิกส่งกลับจะถึงแพทยสภาหลังจากวันที่ปิดให้มีการลงคะแนน ในกรณีที่ผู้ลงคะแนะอยู่ไกล” นพ.อิทธพร กล่าว
รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวด้วยว่า แพทยสภาได้ดำเนินการแก้ไขด้วยการแจ้งข่าวผ่านเวบไซต์ของแพทยสภาและติดประกาศในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ โดยมีการประชาสัมพันธ์ถึงนโยบายต่างที่สำคัญ อาทิ เรื่องการเน้นผลิตแพทย์ที่มีมีความสามารถและมีคุณธรรม เพื่อให้รองรับกับสถานการการขาดแคลนแพทย์ในปัจจุบัน รวมถึงการแก้ปัญหาสาธารณสุขโดยการสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการและผู้รับบริการสาธารณสุข ให้เท่าเทียมกัน ด้วย
ขณะที่ นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รอง ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศ ไทย(สผพท.) หนึ่งในผู้สมัครกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ.2554 - 2556 กลุ่มแพทย์ไทยสามัคคี กล่าวว่าถึงความคืบการเลือกตั้ง คกก.แพทยสภาฯ ว่า ยอมรับว่าขณะนี้มีแพทย์ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยทางกลุ่มฯ จึงจำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์นโยบายและจุดยืนของกลุ่มเพื่อให้แพทย์ทราบ ทั้งแบบโทรศัพท์ติดต่อ แจกเอกสาร ทั้งโปสเตอร์ กระจายข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งนี้เชื่อว่าทางกลุ่มฯน่าจะได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่มาจากแพทย์อาวุโส เพราะรู้ว่า เห็น ด้วยกับนโยบายด้านการต่อต้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... และรับรูถึงข้อเสียของการเกิด พ.ร.บ.ฉบับนี้