ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ป.ป.ส.ภาค 3 แฉ ภาคอีสานยาเสพติดยังระบาดหนักน่าเป็นห่วง ชี้ ชายแดนอีสานเป็นจุดนำเข้ามากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ระบุ ยาบ้าล็อตใหญ่ 10 ล้านเม็ด เริ่มทะลักเข้าไทยหลังสงกรานต์ จับตา “ยาไอซ์” พุ่ง สั่งเพิ่มมาตรการสกัดกั้นตั้งด่านตรวจเข้ม พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมายปิดล้อมตรวจค้นระยะที่ 2 หลังประสบความสำเร็จในรอบแรก เผย ยังไม่พบนักการเมืองนำยาบ้าซื้อเสียงเลือกตั้ง
วันนี้ (21 เม.ย.) ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 3 (ผอ.ป.ป.ส.ภาค3) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)” ถึงสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ภาคอีสาน ว่า โดยภาพรวมยังน่าเป็นห่วงมาก เพราะตามแนวชายแดนทางภาคอีสานถือเป็นจุดนำเข้ายาเสพติดมากลำดับที่ 2 ของประเทศรองจากภาคเหนือ ผู้ผลิตพยายามหาช่องทางที่ง่ายและสะดวกกับการขนยาเสพติด
ประกอบกับชายแดนด้านภาคอีสาน มีเส้นทางค่อนข้างยาวทั้งทางน้ำ ภูเขา ที่สำคัญ วัฒนธรรม และการใช้ภาษาแยกกันไม่ออกเลยกับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มผู้กระทำผิดจึงใช้ตรงนี้มาเป็นโอกาสในการพยายามนำยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย
สำหรับยาเสพติดที่ถูกลำเลียงเข้ามาทางชายแดนด้านภาคอีสานตัวสำคัญ คือ ยาบ้ากับกัญชา ส่วนสารระเหยที่แพร่ระบาด มีอยู่ในบ้านเราเยอะมากอยู่แล้ว ส่วนกัญชานั้นแหล่งผลิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ติดชายแดนด้านภาคอีสานตอนบน
“ในช่วงหลังหากสังเกตจากการจับกุมยาบ้าล็อตใหญ่ มักจะมียาไอซ์ติดรวมอยู่ด้วยเป็นกิโลกรัม ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง เพราะฝ่ายตรงข้ามเริ่มผลิตยาจำพวกนี้ได้แล้วและมีการผลิตได้มากขึ้นเรื่อยๆ”
นายวิตถวัลย์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว พบว่า จะมียาบ้ากว่า 10 ล้านเม็ด จ่อทะลักเข้ามาในประเทศไทยด้านชายแดนภาคอีสาน ซึ่งล่าสุด มีการจับกุมได้ที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ได้ยาบ้ากว่าแสนเม็ด คิดว่า เขาพยามทยอยส่งเข้ามาเรื่อยๆ และในช่วงหลังสงกรานต์ คาดว่า จะมีการทยอยขนเข้ามาอีก ทาง ป.ป.ส.ภาค 3 จึงเพิ่มมาตรการการตั้งด่านเข้มงวดมากขึ้นและมีการปิดล้อมตรวจค้นจุดเสี่ยงต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น สถานีขนส่งผู้โดยสาร, ชุมชน และตลาด
ขณะเดียวกัน ทาง ป.ป.ส.ภาค 3 ยังได้นำเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ส่งเข้ามา มาทำการตรวจสอบแล้วกำหนดเป็นเป้าหมายเพื่อเข้าดำเนินการปิดล้อมตรวจค้น รายใดที่มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนจะใช้วิธีสืบสวนระยะยาว เพื่อหวังผลจับกุม ส่วนที่ร้องเรียนเข้ามาเจ้าหน้าที่จะไปกดดัน ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ส.ภาค 3 ได้รับแจ้งข้อมูลจากประชาชนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ถือเป็นเรื่องดี และเราจะกดดันไปจนกระทั่งประชาชนมั่นใจ และเกิดความเข้มแข็ง เกิดความตระหนัก สุดท้ายชุมชนก็เข้มแข็งเพราะทุกคนช่วยกันดูแลชุมชนของตัวเอง
นายวิตถวัลย์ กล่าวอีกว่า จากการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 74 จุด ในภาคอีสานช่วงการปราบปรามยาเสพติดระยะที่ 1 ของรัฐบาล มีผลเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก และเตรียมขยายไปสู่พื้นที่อื่นในระยะที่ 2 ช่วง 3 เดือนนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งจากรายงานพบว่าในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง 7 จังหวัด มีกลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดประมาณ 4-5 หมื่นราย
ฉะนั้น การกำหนดจุดเป้าหมายในรอบสองนี้ คิดว่า เรามาถูกทางแล้ว เพราะประชาชนไว้วางใจมากขึ้น ดูได้จากกระแสการแจ้งข้อมูล ทุกคนส่งตรงมาหาเราหมดและกล้าเปิดเผยชื่อ นามสกุลตัวเองด้วย
ส่วนที่เคยมีกระแสข่าวว่า นักการเมืองนำยาบ้ามาซื้อเสียงเลือกตั้งนั้น นายวิตถวัลย์ กล่าวว่า ขณะนี้เรายังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้เข้ามาเลย แต่เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก เพราะเคยมีการกลั่นแกล้งกันในช่วงที่มีการเลือกตั้งอยู่บ่อยๆ และช่วงนี้จะมีคนถูกร้องเรียนเข้ามามาก ซึ่งเมื่อเข้าไปตรวจค้นบางครั้งก็พบว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ที่ผ่านมา ผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่เข้าใจและให้ความร่วมมือกับเราเป็นอย่างดี ซึ่งทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่เราเข้าตรวจสอบจะต้องใช้หมายศาลเป็นหลัก ยกเว้นกรณีเหตุจำเป็นเท่านั้น