xs
xsm
sm
md
lg

อย.ฟุ้งตั้ง ศรร.ช่วยผู้บริโภค 2 ปี ฟันผิด กม.แล้วกว่า 100 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.เผย ตั้งศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรร.) ร่วม 2 ปี สร้างผลงานช่วยผู้บริโภคมิให้เป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี เว็บไซต์ลุยตรวจจับร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ.ดำเนินคดีผู้กระทำผิดแล้วกว่า 100 รายล่าสุด ช่วง ต.ค.-ธ.ค. 53 พบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ได้ขออนุญาตและเกินจริงกว่า 1,000 รายการ

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปฏิบัติการเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการซื้อการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเพิ่มช่องทางร้องเรียนให้มากขึ้น และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา อย.ได้เปิดศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรร.) ซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น 1 อาคาร 1 ตึก อย.โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสื่อต่างๆ ได้แก่ โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี ฟรีทีวี อินเทอร์เน็ต นิตยสาร และวิทยุ พร้อมทั้งรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ท้องตลาด และ ที่สำคัญ เป็นการคุ้มครองพี่น้องชาวไทยให้ได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อร่างกาย โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีของการจัดตั้งศูนย์ ศรร.นี้ ได้เป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานเฝ้าระวังการโฆษณาล่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.-ธ.ค.53) พบการโฆษณาที่สงสัยว่าไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.หรือโฆษณาเกินจริง จำนวน 1,035 รายการ แบ่งเป็นการโฆษณาอาหาร 398 รายการ เครื่องสำอาง 476 รายการ ยา 106 รายการ เครื่องมือแพทย์ 52 รายการ และวัตถุอันตราย 2 รายการ พบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายผ่านทางสื่อนิตยสารมากที่สุด และผลการดำเนินงานแก้ไข

จำแนกเป็นอาหาร แก้ไขแล้ว 265 รายการ ยา 1 รายการ เครื่องสำอาง 283 รายการ เครื่องมือแพทย์ 14 รายการ โดยตัวอย่างกรณีการโฆษณาอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเว็บไซต์ เช่น ผลิตภัณฑ์กาแฟที่อวดอ้างลดความอ้วน การโฆษณายาแผนโบราณ ที่เป็นยาบำรุงร่างกายทางโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี ในเนื้อหาที่โอ้อวดเกินจริงว่า มีสรรพคุณฟื้นฟูตับไต บำรุงระบบเลือด กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ของ “จิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง” เป็นต้น การโฆษณาเครื่องสำอาง อวดอ้างสรรพคุณว่า หน้าใส เด้ง ไร้ริ้วรอย มอบความมหัศจรรย์แห่งผิวหน้า ดูอ่อนกว่าวัย เป็นต้น สำหรับการโฆษณาเกินจริงที่เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ที่ตรวจพบทางนิตยสาร มีเนื้อหาย่อว่า เข็มขัดกระชับสัดส่วน มีรังสีอินฟราเรด สามารถทำงานได้เข้าไปลึกถึงไขมันชั้นใน และมีการนวดเหมือนพายุหมุนไซโคลน ใครลองลดหุ่นหลายวิธีแล้วไม่สำเร็จลองวิธีนี้ดู เป็นต้น และอีกหลายเนื้อหาข้อความที่สื่อถึงการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังฯ อย.จะดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด เพื่อจะกำจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อหมดไปจากสังคม

รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการทำงานของศูนย์เฝ้าระวัง เมื่อได้รับเบาะแสจากการเฝ้าระวังและการรับเรื่องร้องเรียน จะรวบรวมและประมวลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพเสนอผู้บริหาร รวมทั้งส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ กรณีเป็นเรื่องที่มีผลกระทบหรือปัญหารุนแรง หรือเป็นเรื่องเชิงนโยบาย จะส่งให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศปป.) ดำเนินการตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายทันที โดยดำเนินงานร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ.ซึ่งผลงานเด่นจับกุมได้จากการตรวจสอบทางเคเบิลทีวี เช่น คดีการจับกุมแหล่งผลิต/จำหน่ายน้ำหมักชีวภาพของ “ป้าเช็ง” นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคดีที่ช่วยให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาหลอกลวง ได้แก่ การจับกุมเจ้าของเว็บไซต์ขายยาทำแท้ง การจับกุมผู้ผลิต/จำหน่าย เครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ และอาหารปลอม เป็นต้น

รองเลขาธิการ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ประชาชนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณ ทั้งช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายผอมเพรียว รักษาได้สารพัดโรค ทำให้หน้าใสอ่อนกว่าวัย เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น ขอให้สงสัยไว้ก่อน และสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนไปยังศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพนี้ได้ โดยมีหลายช่องทาง ที่ อย.เปิดบริการให้ประชาชนอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ สายด่วน อย.1556 โทรศัพท์/โทรสาร 0 2590 1556 จดหมาย ผ่าน ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 อีเมลที่ 1556@fda.moph.go.th หรือ มาร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาคาร 1 ชั้น 1 ตึก อย.ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งมิให้ผู้กระทำผิดกฎหมายลอยนวลอยู่ในสังคมไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น