xs
xsm
sm
md
lg

รมว.สธ.ชี้ใช้ถุงก๊อบแก๊บแทนถุงยางผิดปกติ คนส่วนใหญ่ไม่ทำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จุรินทร์” ชี้ ใช้ถุงก๊อบแก๊บแทนถุงยาง ผิดปกติ ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ด้าน คร.เตือนใช้ผิดวิธีทำช่องคลอดอักเสบ แนะควรสื่อสารให้ถูก ยันถุงยางเพียงพอ แจกปีละกว่า 20 ล้านชิ้น จำหน่ายผ่านตู้หยอดเหรียญอีกกว่า 2 หมื่นตู้

วันนี้ (4 ม.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยพฤติกรรมของวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มหนึ่งมีการใช้ถุงพลาสติคแทนถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ ว่า จากการมอบหมายให้สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค (คร.) ตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น เบื้องต้นพบว่า เป็นกรณีไม่ปกติ เกิดจากความอยากลองมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานต่างๆมีการกระจายถุงยางอนามัยจำนวนมาก โดย คร.และหน่วยงานต่างๆ ได้ติดตั้งตู้หยอดเหรียญถุงยางอนามัยตามสถานที่ต่างๆ กว่า 20,000 แห่ง ซึ่งจำหน่ายในราคาเพียง 5-10 บาทต่อชิ้น โดยแต่ละปีมีคนมาใช้บริการจากตู้หยอดเหรียญอนามัยทั้งของ คร.และของหน่วยงานเอกชนสูงถึง 5 ล้านกว่าชิ้นต่อปี ที่สำคัญ ยังมีโครงการแจกถุงยางอนามัยฟรีทั่วประเทศปีละกว่า 20 ล้านชิ้น ซึ่งไม่รวมหน่วยงานอื่นๆที่มีโครงการแจกถุงยางอนามัยฟรีอีกจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวสมควรมีการติดตั้งตู้หยอดเหรียญถุงยางอนามัยในสถานศึกษาหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากมุมหนึ่งมองว่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ส่วนอีกมุมหนึ่งมองว่าจะเป็นการชักจูงให้มีเพศสัมพันธ์หรือไม่ เรื่องนี้จึงควรหารือกันอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตู้หยอดเหรียญถุงยางอนามัยได้ติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ มากมาย ทั้งห้างสรรพสินค้า ทั้งปั๊มน้ำมัน ห้องน้ำสาธารณะต่างๆ ซึ่งกระจายไปทั่วแล้ว

ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดี คร.กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะเกิดจากปัญหาการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัย รวมทั้งการขอรับถุงยางอนามัยฟรี หรือการซื้อถุงยางอนามัยในราคาที่เหมาะสม ซึ่งอาจได้รับข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอ แต่ไม่เกี่ยวกับถุงยางอนามัยไม่เพียงพอ ซึ่งตนเชื่อว่ามาจากความอายที่จะเดินเข้าไปซื้อถุงยางอนามัยเอง รวมทั้งอาจเกิดในกรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถหาซื้อได้ทันท่วงที แต่ต้องการป้องกัน คิดว่าสามารถใช้แทนกันได้ ทั้งๆที่เป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากเป็นการใช้ผิดประเภท เนื่องจากถุงพลาสติกมีพื้นผิวที่หยาบกระด้างกว่าถุงยางอนามัย ซึ่งหากนำมาใช้แทนจะส่งผลต่อการบาดเจ็บกับทั้งสองฝ่ายได้ อีกทั้ง หากหลุดเข้าไปช่องคลอดจะก่อให้เกิดการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบได้ ที่สำคัญไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไม่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์อีกด้วย

นพ.มานิต กล่าวอีกว่า เชื่อว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ใช้ถุงพลาสติคแทนถุงยางอนามัย แต่ปัญหาคือ อาจใช้ถุงยางอนามัยซ้ำหลายครั้ง เพราะวัยรุ่นไม่อยากเสียเวลาในการซื้อบ่อยๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่ปลอดภัย และเสี่ยงติดโรคและตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมสวมใส่ถุงยางหลายๆ ชั้น เนื่องจกาเชื่อว่าจะป้องกันได้มากกว่า ทั้งที่ชั้นเดียวก็ป้องกันได้ ไม่จำเป็นต้องสวมหลายชั้น เพราะไม่ได้ช่วยอะไรเพิ่มเติม และยังเป็นการสิ้นเปลืองด้วย อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่เกิดขึ้น คร.จะสอบถามไปยังต้นข่าวเพื่อขอข้อมูลว่าเกิดจากสาเหตุใด จากนั้นจึงจะนำมาหารือกัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น