xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! วัยโจ๋ใช้ถุงก๊อบแก๊บแทนถุงยาง อาจทำช่องคลอดอักเสบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
คร.ชี้กรณีวัยโจ๋ ใช้ถุงก๊อบแก๊บ เสพเซ็กซ์ อาจเพราะฉุกเฉิน-หาซื้อไม่ทัน เตือนใช้ถุงก๊อบแก๊บ อาจทำช่องคลอดอักเสบ ห่วงเรื่องใช้ถุงยางซ้ำมากกว่า

จากกรณีที่นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยถึงข้อมูลที่ได้จากการทำโฟกัสกรุ๊ปแล้ว พบปัญหาของวัยรุ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า มีการใช้ถุงพลาสติกใส และถุงก๊อบแก๊บ แทนการใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากนักเรียนและเยาวชนไม่มีกำลังทรัพย์ในการซื้อถุงยางอนามัยนั้น

ล่าสุด วันนี้ (4 ธ.ค.) นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ตนเพิ่งเคยได้ยินเรื่องนี้ และเชื่อว่า วัยรุ่นบางส่วนยังคงมีพฤติกรรมดังกล่าวจริง แต่ไม่แพร่หลายมากนัก ทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเพราะวัยรุ่นบางกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของการขอรับ หรือขอซื้อถุงยางอนามัยในราคาที่เหมาะสมได้ ดังนั้น ประเด็นที่ว่าวัยรุนไม่มีเงินซื้อถุงยางนั้น คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะว่าในปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้ถุงยางและแจกให้กลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า 20 ล้านชิ้นแล้ว เชื่อว่า น่าจะเพียงพอ แต่สำหรับกรณีที่วัยรุ่น วัยเรียนมีความอายที่จะซื้อถุงยางนั้นก็อาจเป็นไปได้ แต่คิดว่าหากมีเรื่องแปลกๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง คิดว่า สาเหตุหลักๆ น่าจะเป็นเพราะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือไม่สามารถหาซื้อได้ในทันทีทันใดมากกว่า

อธิบดีกรม คร.กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สำหรับเรื่องอันตรายจากการใช้ถุงพลาสติกและถุงก๊อบแก๊บแทนถุงยางอนามัยนั้น คงไม่ส่งผลอันตรายในเรื่องสารเคมีที่มีอยู่ในวัสดุทั้ง 2 ประเภทแน่นอน เนื่องจากเป็นวัสดุสำหรับบรรจุอาหารอยู่แล้ว แต่เรื่องของการบาดเจ็บจากการร่วมเพศนั้นมีแน่นอน เพราะพื้นผิวของถุงพลาสติกนั้น มีความหยาบกระด้างกว่าถุงยางอนามัย อาจจะส่งผลต่อการบาดเจ็บกับทั้งสองฝ่ายได้ อีกทั้งวัสดุทั้งสองประเภทไม่มีความกระชับแนบเนื้อ ดังเช่นถุงยางฯ ฉะนั้นอาจเป็นไปได้ที่จะหลุดลุ่ยและไปค้างในช่องคลอดของฝ่ายหญิง ซึ่งส่วนนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

“โดยส่วนตัวคิดว่าปัญหาการใช้วัสดุประเภทถุงพลาสติก แทนถุงยางฯ ในกลุ่มวัยรุ่นยังไม่น่าห่วงเท่ากับปัญหาการใช้ถุงยางซ้ำกันหลายครั้ง เหตุเพราะวัยรุ่นไม่อยากเสียเวลาในการหาสถานที่ซื้อ หรือจุดบริการอยู่ไกลเกินกว่าจะซื้อเก็บไว้ใช้ได้ ซึ่งพฤติกรรมนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้” อธิบดี กรม คร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการพิสูจน์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแล้ว ทางกรมควบคุมโรคจะมีมาตรการสำหรับการให้ความรู้เรื่องวิธีการใช้ถุงยางอนามัยแก่กลุ่มวัยรุ่นเพิ่มเติมหรือไม่ และจะมีนโยบายความร่วมมือกับหน่วยงาน สถานศึกษาเพื่อเปิดจุดบริการถุงยางอนามัยหรือไม่ นพ. มานิต กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นถึงขั้นเปิดจุดให้บริการซื้อขาย หรือแจกถุงยางอนามัยในสถานศึกษาแน่ๆ แต่อาจจะเน้นที่การให้ความรู้และรณรงค์ให้มีการใช้อย่างเหมาะสมเท่านั้น ซึ่งกรมฯ มีการดำเนินนโยบายดังกล่าวอยู่แล้ว โดยพยายามกระจายข้อมูล ความรู้อย่างทั่วถึง รวมทั้งมีการแจกและขายถุงยางในราคาย่อมเยาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น