xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเล็งออกกฎคุมหมอสั่งจ่ายยา ชี้คุมค่ารักษา ขรก.แก้ไม่ถูกจุด-โยน สปสช.ถลุงงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภา เตรียมออกหลักเกณฑ์คุมหมอสั่งจ่ายยา หลัง ครม.เห็นชอบคุมค่ารักษาระบบสวัสดิการ ขรก.ขณะที่หมอค้านรัฐบาลตัด-ลดสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ ชี้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ระบุคนถลุงงบค่ารักษาตัวจริง คือ สปสช. เงินบัตรทองไม่พอโรงพยาบาลงุบงิบเงินกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ขึ้นราคายา เวชภัณฑ์ 30-150% เสนอรัฐจัดระบบบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่

จากกรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้มีการตรวจสอบและควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาบางกลุ่มหรือรายการ ให้เป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติหรือตามเงื่อนไขและข้อบ่งชี้ที่องค์กรวิชาชีพกำหนดนั้น
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา แพทยสภาได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนกรมบัญชีกลาง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เกี่ยวกับแนวทางควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะออกแนวทางปฏิบัติการสั่งจ่ายยาของแพทย์ โดยจะจัดทำเป็นเกณฑ์ขั้นตอนการวินิจฉัยว่า ระดับใดควรให้ยาชนิดใด ซึ่งจะช่วยปัญหาการสั่งจ่ายยาข้ามขั้นตอน เพราะที่ผ่านมาบางครั้งไม่จำเป็นต้องได้รับยาราคาแพง แต่ก็สั่งจ่ายยาออกไป ซึ่งจะลดความไม่จำเป็น และสิ้นเปลืองการใช้จ่ายยาได้ ซึ่งเร็วๆ นี้ จะนัดประชุม เพื่อคัดเลือกคณะทำงานและหาแนวทางในการคบคุมว่าต้องมีเกณฑ์ลักษณะใดบ้าง เนื่องจากต้องมีแพทย์หลากหลายสาขามาร่วมให้ข้อมูล ซึ่งหากได้เกณฑ์ปฏิบัติออกมาจะเป็นการช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้ และหากนำมาใช้ในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่มีงบฯ สูงถึง 6 หมื่นล้านบาท น่าจะประหยัดงบได้ถึง 6 พันล้านบาททีเดียว


วันเดียวกัน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภา และกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้าราชการไม่ได้ถลุงงบค่ารักษาว่า การควบคุมค่าใช้จ่ายยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง คือ การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่สมดุล

ทั้งนี้ พบว่าอัตราการเพิ่มของงบฯ สูงกว่างบฯ ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อน พ.ศ. 2545 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.9% ต่อปี แต่ภายหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอัตราเพิ่มได้สูงขึ้นถึง 12.46% ต่อปี

ปัจจุบันโรงพยาบาลของ สธ.ได้ปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์รวมทั้งค่ายาและเวชภัณฑ์สูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 30-150% ของอัตราราคาเดิมก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่โรงพยาบาล ซึ่งนายกฯ ควรไปดูงบฯ ที่ต้องใช้ในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นจาก 30.4% ของงบฯ ด้านสาธารณสุขในปี 2545 เป็น 50.2% ในปี 2553 ไม่ใช่กองทุนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น

“นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลควรได้รู้ความจริงว่า ผู้ที่ถลุงและผลาญงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุขของชาติอย่างถูกกฎหมาย คือ องค์กรที่ทำงานภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ซึ่งกฎหมาย 2 ฉบับนี้ คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารประเทศคือรัฐบาลไม่มีอำนาจในการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ” พญ.เชิดชูกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น