บทความโดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ประสานงาน ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร
วัน-สองวันมานี้ มีบุคคลมากหน้าหลายตาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการและผู้ทำหน้าที่สื่อ ออกมาให้ความเห็นและหาทางออกกันมากต่อมากต่อสถานการณ์การเมืองอันเนื่องมาจากการชุมนุมประท้วงของมวลชนที่กรุงเทพฯ ทุกคนพยายามร่วมมือกันหาทางออกและวิธีการแก้ไขให้บ้านเมือง
ขอยกตัวอย่างบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคมนี้ ที่มีเจตนาที่ดีให้เห็นว่า สื่อเองก็ได้ทำหน้าที่ต่อสังคมโดยพยายามช่วยกันคนละไม้คนละมือ ความเห็นที่สะท้อนจากบทบรรณาธิการเรื่องที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้สะท้อนคิดคือเรื่องที่กำลังบอกว่า ชัยชนะที่แท้จริงอยู่ในสภา พร้อมกับเสนอความเห็นของนักวิชาการที่โดดเด่นเพื่อเสริมให้เกิดข้อคิดต่อประเด็นนี้อีกว่า “การเมืองบนท้องถนน ไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมได้”
ข้าพเจ้าเองและภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันเคลื่อนไหวในขบวนการภาคประชาชนมีความหวังอยู่กับการเมืองบนท้องถนนอยู่บ่อยๆ เนื่องจากพวกเรามีประสบการณ์และได้รับบทเรียนที่เป็นสัจธรรมว่าเกิดความเสื่อมศรัทธาต่อรัฐสภาไทยในปัจจุบัน ทั้งๆที่เราไม่ได้ต่อต้านระบบรัฐสภา เห็นได้จากภาคประชาชนยังให้ความร่วมมือทำงานร่วมกันในคณะกรรมาธิการบางคณะ บางเรื่อง ของสภา และเราเทิดทูนยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ว่า เป็นหลักประกันที่ดีที่สุดของการปกครองบ้านเมืองในบริบทของสังคมไทยขณะนี้
เราตระหนักดีว่า “การเมืองบนท้องถนน” ก็คือ โอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางหนึ่งของประชาชน ที่ประชาชนต้องการมีส่วนในกระบวนการตัดสินใจของประเทศ การกระทำนั้นเป็นไปได้ทั้งในทางที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่พวกเราก็พยายามทำให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยยึดบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ และกระทำโดยสันติวิธี นักวิชาการทางรัฐศาสตร์บางคน เช่น ไชยวัฒน์ เจริญสินโอฬาร พยายามให้ความรู้และความเข้าใจต่อสังคมต่อลักษณะของการเมืองแบบนี้ว่า
“การเมืองแบบใหม่ไม่ศรัทธาในระบบการปกครองแบบรัฐสภาที่เป็นอยู่ เพราะเห็นว่าไม่มีที่ว่างหรือพื้นที่ให้กับประชาชนธรรมดา ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองอย่างมนัยยะสำคัญ เนื่องจากเป็นการเมืองของสถาบันที่นิยมใช้ความรุนแรงกับประชาชนในรูปแบบต่างๆ การเมืองไหม่ไม่ใช่เรืองของ “ความเป็นตัวแทนประชาชน” ของสถาบันหลักทางการเมือง ดังนั้นหัวใจของการเมืองแบบใหม่จึงอยู่ที่การสร้างการเมืองแบบที่ให้ประชาชนธรรมดามีบทบาทอย่างแข็งขันในรูปของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนแบบต่างๆ มากกว่าการเมืองแบบรัฐประชาชาติ ที่มุ่งเน้นการช่วงชิงอำนาจรัฐ”
นี่คือแนวคิดหนึ่งหรือคำอธิบายชุดหนึ่งที่พยายามทำให้สังคมเข้าใจว่าทำไม “การเมืองบนท้องถนน” จึงเป็นความหวังของประชาชน
ในขณะเดียวกัน บทเรียนของการต่อสู้เรียกร้องที่ได้รับมานั้นสะท้อนให้เห็นความแตกต่างอย่างสูงทางสถานภาพ และความไม่ยอมรับในสถานภาพที่ประชาชนมีอยู่หรือเป็นอยู่ ที่จะเป็นช่องทางให้ประชาชนได้มีบทบาทในการเข้าร่วม ทุกเรื่องถูกฝ่ายมีอำนาจทำให้เป็นการเมืองไปได้ทั้งหมด
ดังนั้น ความบริสุทธิ์ ความจริงใจ หรือปัญหาที่เป็นเนื้อหาสาระอย่างแท้จริงจึงถูกเพิกเฉยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติ แม้กระทั่งสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารสาธารณะของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในหมวด10 (เช่น บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ...) ก็ยังถูกละเมิด เพิกเฉย และละเว้นไม่ปฏิบัติ และผู้มีอำนาจก็สามารถกระทำตามหนทางของตนเองได้โดยชอบธรรมด้วยการอ้างว่าเพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ
ตัวอย่างกรณีปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ฝ่ายรัฐใช้กลไกเจบีซี ดำเนินการเจรจา จัดทำหลักเขตแดน และทำร่างข้อตกลงระหว่างประเทศ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนการอ้างความชอบธรรมของรัฐ ซึ่งประชาชนได้ตั้งคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำที่ว่าชอบธรรมนั้น มันควรจะต้องมีการพิสูจน์ว่า “ความมั่นคง” ที่รัฐอ้าง กับสิ่งที่ประชาชนตรวจสอบและค้นพบว่ารัฐกระทำการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อ “ความมั่นคง” นั้น อะไรคือข้อเท็จจริง แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น
นอกจากจะไม่มีการหยุดยั้งเพื่อพิสูจน์ทราบ ไม่มีการแถลงตอบหรือมีปฏิกิริยาใดๆ ที่พึงจะเรียกได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะต่อประชาชนตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ กลับปรากฏว่า รัฐยังคงดำเนินการต่อไปโดยไม่หยุดยั้งเจบีซีไทยที่น่าสยดสยองและน่าสงสัย และดำเนินการต่อไปให้สมบูรณ์ตามกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยเสนอเรื่องเข้าสู่การประชุมร่วมของรัฐสภา ดังที่ปรากฏในวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาว่าประธานรัฐสภาเรียกประชุมร่วมในวันที่ 16 มีนาคม เรื่อง “3.1 รายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมลับเรื่อง กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ไทย-กัมพูชา ตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันอังคารที่ 28 ตุลาคม 2551 ซึ่งคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว” ในขณะที่บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ และทั้งๆที่เรื่องนี้ประชาชนเคยยื่นหนังสือร้องขอให้พิจารณาเพิกถอนมติของการประชุมวันอังคารที่ 28 ตุลาคม 2551ด้วยเหตุผลว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างรุนแรง รวมทั้งขอให้นายกรัฐมนตรีถอนเรื่องการขอความเห็นชอบบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ออกจากสภามาแล้วหลังจากได้วิเคราะห์และแสดงเหตุผลให้เห็นถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อความมั่นคงของรัฐทุกๆ ด้าน บทเรียนนี้พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงึงวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐสภาไทย รัฐสภาไทยไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นธรรม
กลไกอื่นๆ อย่างเช่น การปฏิวัติ การใช้กำลัง และการใช้ความรุนแรง เพื่อผลักดันการเมืองบนท้องถนน จึงถูกมองว่าเป็นหนทางออกในความเป็นจริง แต่นั่นก็ไม่ใช่เป็นความหวังหรือความต้องการในการพัฒนาประชาธิปไตย มิหนำซ้ำกลับจะให้ผลลในทางตรงกันข้ามอย่างอัปยศโดยสิ้นเชิง
ชัยชนะที่แท้จริงของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยเวลานี้อยู่ที่จะแก้สันดานนักการเมืองไทยที่ทับซ้อนอยู่กับเรื่องผลประโยชน์และการคอร์รัปชันได้อย่างไร เท่านั้นเอง มิใช่อยู่ใน “สภา” อย่างแน่นอน อย่าไปตั้งความหวังกับรัฐสภาไทยให้มากเกินราคา!