xs
xsm
sm
md
lg

รับมือวิกฤตสุขภาพจิต ปชช.บริการ 1323 ใส่ใจคนใกล้ชิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังดูแลจิตใจประชาชนช่วงการเมืองร้อนระอุ ผ่านสายด่วน 1323 พบ คนไทย 5% ทุกข์ใจการเมือง เตรียมพร้อมจัดทีมวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) รับมือดูแลจิตใจประชาชน หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางการเมือง ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้เฝ้าระวังดูแลสภาพจิตใจประชาชนจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ตลอด 4 วัน (11-14 มีนาคม 2553) ผ่านสายด่วน 1323 ในเขต กทม.และปริมณฑล พบ ประชาชน ประมาณ 5% เครียด ทางการเมือง โดยส่วนใหญ่เป็นการโทร.มาระบายความทุกข์ใจเป็นห่วงเป็นใยสถานการณ์บ้านเมือง ความเครียดที่เกิดขึ้นที่โทร.เข้ามาระบายขอคำปรึกษา อาทิ การเกิดความขัดแย้งกับสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากมีความเห็นต่างกัน แม่ต้องการให้ลูกเข้าร่วมชุมนุมแต่ลูกไม่ต้องการ รวมทั้งเครียดจากการติดตามข่าวสารบ้านเมือง ฯลฯ ซึ่ง กรมสุขภาพจิต คาดว่า น่าจะมีจำนวนผู้ต้องการขอรับคำปรึกษาเพิ่มมากขึ้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ช่วงเวลานี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจำเป็นต้องจัดการความเครียด ลดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะญาติพี่น้องผู้ร่วมชุมนุม สมาชิกในครอบครัว ที่ต่างก็วิตกกังวล ทุกข์ใจ เป็นห่วงเป็นใยสถานการณ์บ้านเมือง และอาจเกิดความขัดแย้ง ใช้ความรุนแรงขึ้นได้ กรมสุขภาพจิต ขอเสนอแนวทางที่จะช่วยลดความตึงเครียดจากสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ดังนี้
1.ควรยอมรับกันและกันว่าทุกฝ่ายต่างมีความมุ่งมั่นและจุดหมายร่วมกัน คือ ความรัก ความห่วงใยประเทศชาติ ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ชีวิตยังมีอีกหลายสิ่งที่มากกว่านั้น เรายังมีเพื่อน มีครอบครัว มีคนที่รักเรา ซึ่งถ้าเห็นเช่นนี้จะช่วยให้เรามีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพื่อไม่เกิดความเคียดแค้นชิงชังกัน ที่สำคัญ ให้มองทางบวก เชื่อมั่นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะผ่านไปได้ด้วยดี ถ้าไม่ใช้ความรุนแรง
2.ควรบริหารเวลาในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้เสียชีวิตครอบครัวการงาน และการพักผ่อน ซึ่งจะส่งผลให้เครียดมากขึ้น ควรเปิดใจกว้างรับข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน เพื่อให้มีแง่มุมที่เปิดกว้างมากขึ้น
3.ควรรวมพลังประกาศจุดยืน แสดงความห่วงใยบ้านเมือง ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจทำได้โดยร่วมกันส่งข้อความแสดงเจตจำนงต้องการให้เหตุการณ์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีโดยไม่ใช้ความรุนแรง ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ รวมทั้งการเรียกร้องให้องค์กรของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ องค์กรวิชาชีพ องค์กรสื่อ องค์กรด้านสังคม ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ แสดงจุดยืนไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ การที่เราได้ทำสิ่งใดอย่างหนึ่งเพื่อที่จะทำให้สังคมดีขึ้น ถึงแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยแต่เมื่อรวมกันจำนวนมาก ก็ย่อมจะเป็นผลดีต่อบ้านเมือง และเป็นการช่วยลดความเครียดความคับข้องใจที่มีอยู่ในตัวบุคคลได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการแปลงความเครียดวิตกกังวลให้เป็นพลังสร้างสรรค์สังคม
4.ประชาชนที่ร่วมชุมนุมและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม หากมีความเครียดหรือวิตกกังวลควรแปลงความวิตกกังวลเป็นการระมัดระวังและร่วมกันหาทางออกให้กับตนเองและชุมชนอย่างมีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยการนำทักษะความอดทนที่ทุกคนมีอยู่และได้นำมาใช้เป็นอย่างดีตลอด 3 ปีที่ผ่านมามาเป็นบทเรียน ตลอดจนยึดมั่นในหลักศาสนาก็จะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้
ขณะนี้ พบว่า ประชาชนจำนวนมากมีความวิตกกังวล ห่วงใยบ้านเมือง ครอบครัว ญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี การแสดง

ความห่วงใยที่ได้ผล ไม่ควรเน้นการโต้แย้ง เอาชนะด้วยเหตุผล แต่เน้นการรับฟัง แสดงความห่วงใย ว่า หากมีอารมณ์ที่รุนแรงจะกระทบทั้งสุขภาพ และการแสดงออก ควรชมเชยที่เขามีความตั้งใจดีต่อสังคม แต่ขอให้ควบคุมอารมณ์และอย่าใช้ความรุนแรง หากต้องการปรึกษา ว่าจะแสดงความห่วงใยคนใกล้ชิดที่เครียดมากได้อย่างไร สามารถขอคำปรึกษาได้ที่1323 ห่วงใยคนใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง และ ได้เตรียมทีมวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) เพื่อช่วยดูแลจิตใจประชาชนในภาวะวิกฤต หากเกิดสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองขึ้น ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น