สธ.ยันพร้อมเต็มสูบ รับมือเหตุฉุกเฉินจากการชุมนุมเสื้อแดง สำรอง 850 เตียงในเขต กทม.รถพยาบาล พร้อม 4 จุดสำคัญ กว่า 100 คัน เรือกู้ชีพ 40 ลำ สั่งโรงพยาบาลสำรองเลือด ออกชิเจน เต็มอัตรา รวม 6,800 ยูนิต พร้อมให้เจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล อยู่ประจำ 24 ชั่วโมง
วันนี้ (14 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า ในวันนี้ได้มาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดนนทบุรี ซึ่ง สธ.มีศูนย์บัญชาการลักษณะนี้จำนวน 79 ศูนย์ทั่วประเทศ รวมทั้งศูนย์เอราวัณที่รับผิดชอบในเขตกรุงเทพมหานครด้วย
ในส่วนการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจเกิดขึ้นหากมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม ในภาพรวมขณะนี้ถือว่ามีความพร้อม ทั้งการสำรองเตียงเฉพาะในเขต กทม.มีทั้งหมด 850 เตียง เป็นของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. 93 เตียง สังกัด กทม.100 เตียง สังกัด รพ.มหาวิทยาลัย 178 เตียง และ รพ.เอกชน 469 เตียง เตรียมรถพยาบาลไว้ประจำพื้นที่ กทม.4 จุด คือ ที่ รพ.สงฆ์ 6-7 คัน รพ.มิชชั่น ซึ่งสภากาชาดไทย มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิอื่นๆ ร่วมกันรับผิดชอบ รวม 17 คัน วชิรพยาบาล 4-5 คัน รพ.กลาง สังกัด กทม.10 คัน รวมทั้งหมด 40 คัน และยังมีเครือข่ายอีก 60 คัน รวมไม่ต่ำกว่า 100 คัน ที่พร้อมปฏิบัติการได้ทันที นอกจากนี้ได้เตรียมเรือกู้ชีพฉุกเฉินกว่า 40 ลำ เนื่องจากมีผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางมาทางเรือ เป็นเรือของกรมเจ้าท่า 20 ลำ กรมบรรเทาสาธารณภัย 20 ลำ วชิรพยาบาล สังกัด กทม.2 ลำ ซึ่ง สธ.ก็มีโรงพยาบาลที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เช่น ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมอื่นๆ ทุกโรงพยาบาลได้สำรองออกซิเจน และเลือดไว้เต็มอัตรา รวมทั้งหมด 6,800 ยูนิต เฉพาะศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย 900 ยูนิต พร้อมที่จะประสานงานหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน ได้ประสานงานโรงพยาบาลทั้งหมด ให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง หากไม่จำเป็นขอให้เจ้าหน้าที่ประจำการที่โรงพยาบาล ไม่ลาหยุดในช่วงนี้ เพื่อให้พร้อมรับสถานการณ์หากเกิดความรุนแรงมีผู้ได้รับบาดเจ็บขึ้น
ในส่วนของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ขณะนี้ได้เปิดท่าเรือของโรงพยาบาลรองรับผู้บาดเจ็บตลอด 24 ชั่วโมง สามารถนำผู้ป่วยมารับการรักษาได้ทันที โดยได้สำรองเลือดไว้ 80-120 ยูนิต ออกซิเจนเต็มอัตรา เตียงรับผู้ป่วย 10 เตียง หน่วยกู้ชีพพร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน 2 คัน และเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลชุมชุนในจังหวัดนนทบุรี และมูลนิธิต่างๆ อีก 10 ทีม ส่วนเรื่องความปลอดภัยของโรงพยาบาลซึ่งอยู่ติดแม่น้ำนั้น ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเช่นเดียวกับทุกโรงพยาบาล ให้การดูแลเช่นเดียวกับหน่วยราชการทั่วไป
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ในส่วนของ 7 จังหวัดปริมณฑล ได้สำรองเตียงว่างเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการชุมนุมรวมทั้งหมด 448 เตียง ประกอบด้วย นนทบุรี 46 เตียง สมุทรปราการ 121 เตียง สมุทรสาคร 121 เตียง ปทุมธานี 80 เตียง สมุทรสงคราม 50 เตียง นครปฐม 51 เตียง และฉะเขิงเทรา 50 เตียง