“จุรินทร์” สั่งการศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (13 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (PhoneIn) ที่ศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่า
ขณะนี้สถานการณ์ของการชุมนุมอยู่ในระดับปกติ ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติติดตามสถานการณ์และประเมินสถานการณ์มาโดยตลอด พบว่าขณะนี้สถานการณ์ยังไม่ถึงระดับ 3 ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการหรือศูนย์นเรนทร จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติการใดๆ ผู้ที่จะประเมินสถานการณ์ว่าถึงระดับที่ศูนย์นเรนทรจะเข้าไปปฏิบัติการ มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการ สพฉ.ร่วมกันประเมินแล้วรายงานให้ผมทราบเพื่อที่จะตัดสินใจ ซึ่งขณะนี้ระบบการประสานงานมีความชัดเจน โดยการประสานงานในส่วนกรุงเทพฯ จะประสานงานกับศูนย์เอราวัณ ส่วนอีก 75 จังหวัดจะประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีอยู่ในทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขานุการ
ทั้งนี้ ในส่วนกรุงเทพมหานคร ศูนย์เอราวัณได้แบ่งสถานพยาบาล เพื่อรองรับสถานการณ์หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือมีเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ออกเป็น 4 เขตพื้นที่ เขต 1 คือ โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เขต 2 อยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลวชิระ เขตที่ 3 อยู่ในความรับผิดชอบของสภากาชาดกับโรงพยาบาลในเครือข่ายและมูลนิธิต่างๆ ส่วนเขต 4 อยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลในเครือของศูนย์เอราวัณ เป็นผู้ประสานงาน เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเป็น 1 ใน 76 จังหวัด แบ่งเป็น 4 เขตพื้นที่เตรียมการที่จะรองรับหากเกิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ประชาชนทั่วไปหากพบเหตุการณ์มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โปรดแจ้งสายด่วน 1669 ซึ่งมีศูนย์ออนไลน์ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็จะมีผู้รับสายตลอด 24 ชั่วโมง ศูนย์จะต่อสายไปยังจุดที่มีหน่วยสถานพยาบาลที่จะรับผิดชอบ จะสามารถเข้าไปดูแลและรับผู้ได้รับบาดเจ็บได้ทันที มีระบบการประสานอยู่แล้ว โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเป็นผู้บริหารจัดการ ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการชุมนุม
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนการดูแลสภาพจิตใจของผู้ที่มีภาวะเครียดจากเหตุการณ์นี้หรือป่วย ไม่สบายใจ กระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยงานที่รองรับให้คำปรึกษา โดยสามารถโทรศัพท์ขอรับบริการปรึกษาที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต หมายเลข 1323 การรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ที่ผ่านมาจิตแพทย์จะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบหลังจากที่ชุมนุมสงบแล้ว ซึ่งจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่ง ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะลงพื้นที่ในการคลี่คลายปัญหาตรงนี้ ส่วนผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงที่พาบุตรหลานเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากหากอยู่ในภาวะรุนแรงเด็กดูแลตัวเองได้ยากกว่าผู้ใหญ่ แต่ที่เตือนไม่ได้ห้ามไม่ให้ชุมนุม หากชุมนุมถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่มีปัญหาอะไร
“ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อน มีผลทางอารมณ์ ให้ระมัดระวังยับยั้งชั่งใจ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติการใด ๆ ทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น ถือว่าไม่คุ้มค่ากับการเสียหายที่จะได้รับหากเกิดความรุนแรง ผู้ได้รับผลกระทบใกล้ตัวก็คือประชาชนอยู่ในสถานการณ์นั้น จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศร้อนจัดมาก หากอยู่แดดนานจะเสียเหงื่อหรือเกลือแร่มาก ทำให้เป็นลมแดดหรือตะคริวแดดได้ หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่กลางแดดและดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ช่วยผ่อนคลายได้” นายจุรินทร์ กล่าว
ด้านน.พ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รับคำสั่งจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่านระบบโทรศัพท์อัตโนมัติว่า ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในขั้นปกติ ซึ่งทางกระทรวงเตรียมมาตรการรับมือในพื้นที่กรุงเทพมหานครใน 4 เขต โดยเขตที่ 1 ให้โรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบ ถนนศรีอยุธยาถึงถนนราชวิถี เขตที่ 2 เป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลวชิระ หลังราชดำเนินตะวันตกถึงราชดำเนินกลาง เขตที่ 3 โรงพยาบาลเครือข่ายสภากาชาดไทยและมูลนิธิ ดูแลถนนผ่านฟ้าฯ ถึงถนนพิษณุโลก และเขตที่ 4 โรงพยาบาลในสังกัดศูนย์เอราวัณ ดูแลทิศใต้ของถนนราชดำเนินกลาง
ส่วนในต่างจังหวัดอีก 75 จังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ น.พ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่ง 8 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี อยุธยา สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร รับมือหากเกิดเหตุการณ์รุนแรง และหากประชาชนพบเหตุการณ์รุนแรง ให้แจ้งได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1669 และ 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง