xs
xsm
sm
md
lg

“เสื้อแดง” ประชุมร่วม สพฉ.เตรียมพร้อมด้านแพทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สพฉ.ประชุมร่วมเสื้อแดงเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือทางการแพทย์หากเกิดเหตุวุ่นวาย ชี้เป็นนิมิตหมายที่ดีได้แลกเปลี่ยนข้อมูลวางมาตรการรับมือด้านการแพทย์ หวังทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรงสร้างความสูญเสีย

นพ.ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวภายหลังประชุมศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินระดับชาติว่า ในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงวันที่ 12 มีนาคม ถือเป็นสาธารณภัยประเภทหนึ่ง ตามมาตรา 15(7) พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ต้องมีการประสานงานและความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
 
ซึ่งในการประชุมได้มีหลายฝ่ายเข้าร่วมทำความเข้าใจ เช่น ศูนย์เอราวัณ รวมถึง นายสลักธรรม โตจิราการ บุตรชาย นพ.เหวง โตจิราการ ตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้เกี่ยวข้องหน่วยงานต่างๆ เพื่อซักซ้อมการประสานงานและการให้ความช่วยเหลือหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น สำหรับหมายเลขโทรศัพท์ที่จะใช้แจ้งเหตุฉุกเฉิน คือ 1646 และ 1669

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ได้มีการตกลงในการใช้สัญลักษณ์ที่มีความเป็นสากล เช่น อุณาโลมแดงหรือสัญลักษณ์กาชาดและสตาร์ออฟไลฟ์ ที่เป็นสัญลักษณ์ของ สพฉ. เพื่อให้ทุกฝ่ายเปิดทางในการทำงานให้อย่างสะดวก โดยกลุ่มคนเสื้อแดง รับปากว่าจะอำนวยความสะดวก ภายในบริเวณพื้นที่ชุมนุม ซึ่งจะมีการวางจุดพยาบาล เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง โดยหน่วยแพทย์ต่างๆ จะวางจุดให้การช่วยเหลือรอบนอกบริเวณการชุมนุม ซึ่งจะต้องสามารถเข้าไปในการชุมนุมได้โดยปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งมีการกระจายข่าวไปยังกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อให้เกิดการประสานงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้การช่วยเหลือเชื่อมโยงกันได้

“การให้ความช่วยเหลือแพทย์และบุคลากรทุกคนยึดหลักความเป็นกลางให้ความช่วยเหลือทุกคนไม่แบ่งแยกไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ กลุ่มเสื้อแดงและประชาชน ซึ่งการที่ได้ประชุมร่วมกันกับกลุ่มคนเสื้อแดงถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันสิ่งสำคัญคือต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสพฉ.กล่าวว่า การวางจุดในการดูแลสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการวางทีมแพทย์ไว้ 10 จุด โดยแต่ละจุดผสมกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายโรงพยาบาล รวมถึงมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ มีรถพยาบาลประจำจุด 2-3 คัน นอกจากนี้ มีการวางเจ้าหน้าที่ทางน้ำ จากทั้ง รพ.ศิริราช รพ.วชิระ รวมถึงการเตรียมการกู้ภัยโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ อย่างไรก็ตามคาดว่า สถานการณ์คงไม่รุนแรงเหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพราะทุกฝ่ายน่าจะใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งอยากให้ทุกฝ่ายเป็นห่วงทั้งประชาชน ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น

นพ.ประจักษ์วิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การชุมนุมถือเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่คงไม่มีใครอยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าฝ่ายผู้ชุมนุมหรือ รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่รุนแรง ซึ่งนำมาสู่ความสูญเสียต่างๆได้
กำลังโหลดความคิดเห็น