ชาวบ้านย่านชุมชนนางเลิ้ง ที่เคยได้รับผลกระทบจากการชุมนุมช่วงเดือน เม.ย.ปีที่ผ่านมา โดยเรียกร้องอย่าใช้ความรุนแรง ด้านปลัด พม.เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งดูแลสถานที่ราชการ และให้ชาวบ้านแจ้งเบาะแสและขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ประชาบดี 1300 ด้านบรรยากาศการเตรียมพร้อมรับมือกับการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงช่วงสุดสัปดาห์นี้ ที่มัสยิดมูฮายีรีน บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เคยมีการปะทะกัน ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับทหาร เมื่อเดือนช่วงเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว กรรมการมัสยิดได้นำลวดหนาม มาเสริมความแข็งแรงของแนวรั้ว เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้น
นางสุพัตรา โชติกมล อายุ 51 ปี มารดานายยุทธการ จ้อยช้อยชด หรือน้องโต๊ด ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2552 ขณะออกมาต่อต้านการขู่เผารถเมล์ บริเวณชุมชนนางเลิ้ง กล่าวว่า ติดตามข่าวทางสื่อทราบว่า จะมีการชุมนุมกันอีก และย่านนางเลิ้ง ก็เป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมสีอะไร เพราะอยู่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล แต่ขอร้องผู้ชุมนุม ว่า หากจะชุมนุมก็ขอให้อยู่ในขอบเขต ครอบครัวไม่ได้อยู่สีใดเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมาสูญเสียลูกชายเมื่อวัยเพียง 19 ปีเท่านั้น แต่หากจะมีการมาปิดถนน ขู่เผาบ้าน เผารถเมล์อย่างปีที่ผ่านมา ชาวบ้านคงต้องออกไปต่อต้านด้วยมือด้วยไม้ที่มีอยู่ เพราะทุกคนก็รักชีวิต
สำหรับหนึ่งปีที่ผ่านมา นางสุพัตรายอมรับว่ายังคิดถึงลูกเสมอ โดยเฉพาะตอนที่เดินผ่านจุดที่มีรอยกระสุนปืน เมื่อมองขึ้นไปตึกที่มือปืนยิงมาถูกลูกชาย และอดไม่ได้ที่จะร้องไห้ เพราะลูกอายุเพียง 19 ปี ยังมีอนาคตอีกไกล วันนี้ใกล้ครบ 1 ปี การเสียชีวิตจะทำบุญที่วัด และแม้จะไม่มีการสืบหาตัวผู้ยิงว่าเป็นใครก็ไม่ติดใจ เพราะเป็นเพียงประชาชนตัวเล็กๆ แต่อยากบอกผ่านสื่อมวลชน ว่า การที่ลูกชายเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ครอบครัวได้รับเงินเยียวยา 400,000 บาท จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ 100,000 บาท จากกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือนตามที่เคยได้ยินข่าวมา
ด้านนายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัด พม.กล่าวว่า พม.เตรียมพร้อมเหตุการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง กำชับบุคลากรของกระทรวง ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด มีวิจารณาญาณ วางตัวเป็นกลาง แนะให้ติดตามข่าวที่บ้าน ส่วนประชาชนสามารถรายงานและขอความช่วยเหลือจากศูนย์ประชาบดี 1300 ซึ่งขณะนี้ได้กำชับให้มีความเข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ เตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยของสถานที่ราชการทั่วประเทศ
ปลัด พม.ยังกล่าวถึงหลักเกณฑ์และวิธีให้ความช่วยเหลือกรณีหากมีผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 และ 8-14 เม.ย.52 คือ หากเกิดบาดเจ็บเล็กน้อย มอบเงินช่วยเหลือ 20,000 บาท รักษาตัวในโรงพยาบาลไม่เกิน 20 วัน 60,000 บาท บาดเจ็บสาหัสรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 20 วัน 100,000 บาท ทุพพลภาพ 200,000 บาท เสียชีวิต 400,000 บาท ส่วนทายาทผู้เสียหายจะได้รับเงินช่วยเหลือรายกรณี อาทิ ส่งเสียเรียนหนังสือ และเงินบรรเทาทุกข์รายเดือน เป็นต้น
โดยฮัจญีอิมรอน สว่างนวล กรรมการมัสยิด เปิดเผยว่า การชุมนุมครั้งที่แล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนได้พังรั้วมัสยิดเข้ามา เพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ บางส่วนได้ขโมยธงชาติที่ประดับตามแนวรั้วไป นอกจากนี้ ยังมีการเผายางรถยนต์บริเวณด้านหน้ามัสยิด ทำให้ผู้ที่จะมาทำพิธีละหมาด ไม่สามารถเข้ามาในมัสยิดได้ ครั้งนี้จึงต้องป้องกันโดยนำลวดหนามเสริมแนวรั้ว เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้ผู้ชุมนุมเข้ามาอีก จะทำให้ทรัพย์สินเสียหาย โดยเฉพาะรถยนต์จำนวนมากที่มาฝากจอดไว้ พร้อมฝากเตือนผู้ชุมนุมว่าอย่าสร้างความเดือดร้อน ด้วยการเผาสิ่งต่างๆ หรือนำรถบรรทุกแก๊สมากดดันอีก เพราะเกรงว่าจะลุกลามเข้ามาภายในมัสยิด ซึ่งหากเกิดขึ้นตนและชาวมุสลิมที่นี่พร้อมแลกด้วยชีวิต