xs
xsm
sm
md
lg

‘น้ำพรากชีวิต’ จมน้ำ...ครองสถิติสูงสุดการตายของเด็กไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าให้ทายว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยคืออะไร? คำตอบคงอยู่แถวๆ โรคภัยไข้เจ็บอะไรสักอย่างตามความเข้าใจพื้นฐาน ความจริงที่น่าตกใจและคาดไม่ถึง สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยคือ ‘การจมน้ำ’

ข้อมูลจาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปสถานการณ์การตกน้ำ -จมน้ำของเด็ก พบว่า จากทั่วโลกกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตจากการตกน้ำ –จมน้ำ ปีละ 135,585 คน หรือเฉลี่ยวันละ 372 คน ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนปีละ 32,744 คน เฉลี่ยวันละ 90 คน

ขณะที่ประเทศไทยมีเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 5-15 เท่าตัว เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ จะสูงกว่าอุบัติเหตุจราจรประมาณ 2 เท่าตัว และมากกว่าไข้จากไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะและไข้เลือดออกถึง 24 เท่าตัว คิดเป็นจำนวนปีละ 1,420 คน หรือวันละ 4 คน

โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ จังหวัดนครราชสีมา กรุงเทพมหานคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุดรธานี และขอนแก่น มีจำนวนการเสียชีวิตมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 5 ปี : ปี 2547-2551) ในขณะที่ช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) มีเด็กตกน้ำ จมน้ำ สูงถึงเกือบ 500 คน แหล่งน้ำที่มีเด็กเสียชีวิตจากการตกน้ำจมน้ำสูงสุดคือ แหล่งน้ำธรรมชาติ (ร้อยละ 49.9) รองลงมาคือสระว่ายน้ำ (ร้อยละ 5.4) และอ่างอาบน้ำ (ร้อยละ 2.5) (ค่าเฉลี่ย 10 ปี: ปี 2541-2550)

ฟังดูเป็นเรื่องน่าอกสั่นขวัญแขวนสำหรับผู้ปกครอง แต่จำเป็นต้องเพิ่มความตระหนกอีกว่า การจมน้ำที่กล่าวถึง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีนั้น เป็นการจมน้ำที่เกิดขึ้นในบ้านหรือละแวกบ้าน!!!

อย่างกรณีของนิตยาคุณแม่ของลูกชายวัย 4 ขวบ เช้าอาทิตย์วันหนึ่งนิตยาและแม่ของเธอจะไปวัด ยายจึงไปกล่อมหลานให้ไปวัดด้วย แต่นิตยาเห็นว่าลูกกำลังเพลินกับการ์ตูนจึงไม่อยากขัดใจ และคิดว่าอีกสักครู่สามีคงลงมาเล่นกับลูก ครั้นเมื่อเธอเดินทางกลับจากวัด นิตยาและแม่ก็เห็นรถป่อเต็กตึ๊งและรถตำรวจจอดอยู่ริมคลองใกล้บ้าน จึงนึกอยากเข้าไปดูแต่ใจกำลังคิดถึงลูก เมื่อเข้าไปในบ้านเธอก็ได้ยินเสียงน้ำไหลและประตูห้องน้ำปิดจึงคิดว่าลูกกำลังเล่นน้ำอยู่

เธอจึงออกไปเก็บผ้าหน้าบ้านและเห็นเจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๊งอุ้มเด็กผู้ชายขึ้นจากน้ำ เมื่อเธอเข้าไปดูใกล้ๆ ก็แทบผงะ แขนขาอ่อนใจสั่นรัวเพราะเด็กคนนั้นคือลูกชายของเธอเอง จากคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่า เห็นลูกของเธอยืนถือคันเบ็ดยืนอยู่ริมคลองคนเดียวและจู่ๆ ก็ตกตูมลงไป ผู้ที่เห็นจึงโทรไปแจ้งตำรวจ (จากหนังสือ 'ภัยใกล้ตัวลูกที่พ่อแม่นึกไม่ถึง เด็กไทยจมน้ำตายอันดับหนึ่ง')
นี่คืออุทธาหรณ์ที่เราอยากจะเตือนพ่อแม่ทุกคน...


เด็กจมน้ำเสียชีวิต-การตายอันดับ 1 ของประเทศ!!!

จากการศึกษาของ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า การจมน้ำของเด็กเล็กมักเป็นอุบัติเหตุที่ผู้ปกครองคาดไม่ถึง เพราะเชื่อว่าตนเองสามารถดูแลเด็กได้ตลอดเวลา และไม่คิดว่าสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันทั่วไป จะเป็นอันตรายต่อเด็ก

แต่กำลังจะบอกว่า มีเด็กเล็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำในถังน้ำ กาละมัง บ่อ อ่างเลี้ยงปลา แม้กระทั่งโถชักโครก หรือตามบ้านเรือนที่เป็นพื้นไม้และมีร่องหรือรอยแตกขนาดใหญ่โดยที่พื้นข้างล่างเป็นแหล่งน้ำก็เคยมีเหตุการณ์ที่เด็กตกลงเสียชีวิตอยู่เสมอ

“กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่จะจมน้ำในบ้านหรือละแวกบ้าน กลุ่มนี้พ่อแม่ก็รู้ว่า ว่ายน้ำไม่ได้และก็ป้องกันไม่ให้ลงไปเล่นน้ำ แต่คิดว่าตนเองจะเฝ้าได้ตลอดเวลา แต่ช่วงเกิดเหตุ แค่เผลอไปนิดเดียว เช่น เด็กอายุ 11 เดือนจมน้ำตายในถังน้ำ กาละมัง คุณแม่เอาจานข้าวไปเก็บ คุยกับเพื่อน หันกลับมาเด็กจมน้ำตายแล้ว”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยฯ เล่าถึงการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กเล็ก และอธิบายถึงการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุ 6-10 ปีว่า มีลักษณะที่แตกต่างออกไป เพราะเด็กวัยนี้สามารถออกไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้านได้แล้ว และการเล่นน้ำกับเพื่อนทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือการเล่นน้ำแบบผาดโผน เช่น กระโดดจากที่สูงหรือเล่นกับเพื่อนในน้ำแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็เป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้

“ขณะที่การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กกลุ่มอายุ 10 ปีขึ้นไป สาเหตุจะเหมือนกับเด็กกลุ่ม 6-10 ปี แต่จะบวกด้วยความก้าวร้าว การเล่นแบบคึกคะนองมากขึ้น บางทีก็มีเรื่องแอลกอฮอล์ด้วย แต่กลุ่มนี้ถ้าว่ายน้ำเป็นก็ลดไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่เราต้องมาสู้กับฮอร์โมนของวัยรุ่น”

ยังมีสถิติที่น่าสนใจว่า อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีแนวโน้มลดลงในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ขณะที่เด็กกลุ่มอายุ 6-9 ปี อัตราการเสียชีวิตไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากก็ตาม ส่วนกลุ่มอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป อัตราการเสียชีวิตมีไม่มากอยู่แล้ว

โดยเด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เป็นอัตราส่วนผู้ชายต่อผู้หญิงประมาณ 2 ต่อ 1 ในเด็กเล็ก แต่ในกลุ่มอายุ 6 ปีขึ้นไป สถิติการตายในเด็กผู้ชายจะลดลง ส่วนสถิติการตายของเด็กผู้หญิง แม้ปกติจะน้อยกว่าผู้ชายประมาณครึ่งหนึ่ง แต่สถิติการตายก็ลดลงน้อยกว่าผู้ชายมาก

แต่พอถึงอายุ 9-12 ขวบ อัตราการตายของเด็กผู้หญิงกลับแซงหน้าเด็กผู้ชาย พออายุ 12 ปีไป อัตราการตายของเด็กผู้ชายกลับมาสูงกว่าเด็กผู้หญิงอีกครั้ง

ถ้าเปรียบเทียบเมืองกับชนบท ภาพรวมชนบทตายมากกว่า เมื่อดูในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอัตราการตายมากกว่ามาโดยตลอดถึงปัจจุบัน แต่ถ้าในกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี เด็กในเมือง ทั้งที่เป็นเมืองอยู่แล้วหรือกำลังโต กลับพบว่าอัตราการตายในสังคมเมืองมีมากกว่าในสังคมชนบท แม้ว่าแนวโน้มจะดีขึ้น แต่เด็กกลุ่มนี้ในสังคมเมืองก็ยังมีโอกาสเสียชีวิตจากการจมน้ำตายมากกว่า

“แต่พอไปดูว่าเป็นเด็กกลุ่มไหนในสังคมเมือง ก็พบว่าเป็นกลุ่มเด็กที่ทางบ้านมีฐานะยากจนเกือบทั้งนั้น อยู่ในชุมชนแออัด เข้าใจว่าส่วนหนึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงกว่าในชนบท สถานะครอบครัว วิธีการดูแลโดยระบบเครือญาติจะแย่กว่าในชนบท แค่บ้านมีร่อง มีรู ก็ตกไปตายแล้ว”

สระว่ายน้ำไม่มีไลฟ์การ์ด

ไม่ใช่ว่าการว่ายน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติห รือการจมน้ำของเด็กเล็กจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหลักๆ เท่านั้น การว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่เปิดให้บริการก็ยังมีการเสียชีวิตถึงร้อยละ 5.4

แม้จะมีกฎระเบียบของทางราชการบังคับว่าสระว่ายน้ำทุกแห่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตประจำสระว่ายน้ำหรือไลฟ์การ์ด แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น สระว่ายน้ำหลายแห่งไม่มีไลฟ์การ์ดหรือมี แต่ไลฟ์การ์ดดันว่ายน้ำไม่เป็นซะอย่างนั้น

“หน้าที่ของไลฟ์การ์ด ก็คือการดูแลความเรียบร้อยของสระว่ายน้ำ รวมไปถึงความปลอดภัยของคนที่มาใช้บริการ เพราะทุกคนที่มาว่ายน้ำมีเปอร์เซ็นต์เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่เปอร์เซ็นต์เสี่ยงนั้นจะมากหรือน้อยก็อยู่ที่การดูแลของไลฟ์การ์ดด้วย ถ้าเผอเรอเปอร์เซ็นต์ความปลอดภัยก็จะไม่เต็มร้อย”

ครูต้อม-ศิลา บรรเจิดศีล ไลฟ์การ์ดและอาจารย์สอนว่ายน้ำของสระว่ายน้ำบ้านสมเด็จฯ เล่าให้ฟังถึงหน้าที่กว้างๆ ของไลฟ์การ์ด

“มันเป็นกฎว่าจะต้องมีไลฟ์การ์ดประจำทุกสระ และต้องมีตลอดเวลาที่สระพร้อมให้บริการ ซึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้นมาทางสระต้องรับผิดชอบทั้งหมด แต่อาจจะมียกเว้นบ้าง ในสระที่นักกีฬาใช้ซ้อมกัน เพราะที่นั่น ผู้ฝึกสอนก็จะทำหน้าที่เหมือนไลฟ์การ์ดไปในตัว แต่ถ้าเป็นสระที่มีการว่ายน้ำเล่นกัน ก็ต้องมีไลฟ์การ์ดเข้ามาเกี่ยวข้อง”

แต่ใช่ว่าแค่ว่ายน้ำเป็นก็สามารถเป็นไลฟ์การ์ดได้ แต่จะต้องผ่านหลักสูตรเฉพาะของไลฟ์การ์ดมาก่อน หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้วิธีการช่วยคนที่กำลังจมน้ำ

“โดยทั่วๆ ไปแล้ว การจะเข้ามาเป็นไลฟ์การ์ดนั้นจะต้องมีการอบรมการช่วยชีวิตคนที่จมน้ำ วิธีปฐมพยาบาล เพื่อให้ทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้ที่ถูกช่วยปลอดภัยทั้งคู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้อบรมให้ เพราะก็มีหลายสระ โดยเฉพาะสระตามหมู่บ้านที่ไม่ได้มีการอบรมไลฟ์การ์ดอย่างเป็นเรื่องเป็นราว บางแห่งแค่เห็นว่าว่ายน้ำเป็นก็จ้างมาเป็นไลฟ์การ์ดเลย

“เอาเป็นว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของไลฟ์การ์ดทั้งประเทศ ยังไม่เคยผ่านการอบรมเรื่องของการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำมาเลย เพราะมันมีมากกว่าการว่ายไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นการโยนโฟม โยนห่วงยาง มันก็มีวิธีการ คนว่ายน้ำแข็ง ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยคนอื่นได้ บางทีว่ายไปช่วยก็จมน้ำทั้งคู่เลยก็มีเพราะไม่ได้เรียนรู้ว่าจะต้องเข้าไปโดยลักษณะใดจึงจะถูกต้อง”

ป้องกันก่อนจะสาย

เมื่อเห็นกันแล้วว่าอันตรายจากการจมน้ำอยู่ใกล้ตัวเด็กๆ ของเรามากกว่าที่คิด จึงจำเป็นต้องหาวิธีป้องกัน ซึ่งสิ่งแรกที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถทำได้เลยคือการจัดการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือป้องกันจุดเสี่ยงภายในบ้าน และการพาลูกไปเรียนว่ายน้ำเสียแต่เนิ่นๆ อย่าคิดว่าการที่ลูกของคุณว่ายน้ำเป็นเองจากการว่ายน้ำในคลองหน้าบ้านจะเหมือนกับกับว่ายน้ำจากการฝึกที่ถูกวิธี

“ความจริงแล้วทุกคนจำเป็นที่จะต้องว่ายน้ำให้เป็น เพราะในชีวิตประจำวันของเรานั้นต้องพบเจอกับความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางน้ำเยอะมาก” วรรณกร กาศเกษม ครูสอนว่ายน้ำ โรงเรียนอรรถมิตร กล่าว

เธอยังบอกอีกว่า คนที่เรียนว่ายน้ำจะต่างจากคนที่ไม่ได้เรียนแต่ว่ายเป็น เนื่องจากว่าคนที่เรียนจะทราบหลักการพื้นฐานของการเอาตัวรอดภายใต้สถานการคับขันได้ดีกว่าการลอยตัว

“การลอยตัวในน้ำให้ได้นั้นเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการเอาตัวรอดกรณีเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ เนื่องจากบางทีถ้ากระแสน้ำเชี่ยวกราก เราจะไม่สามารถสู้แรงของน้ำได้ ทำให้เมื่อว่ายไปสักพักจะหมดแรงและจมน้ำในที่สุด เพราะคนที่ไม่ได้เรียนว่ายน้ำอย่างถูกวิธีมานั้นจะไม่สามารถลอยตัวนิ่งๆ ในน้ำได้”

รศ.นพ.อดิศักดิ์บอกว่าการให้เด็กเรียนว่ายน้ำถือเป็นการลดความเสี่ยงที่ดีทางหนึ่ง ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการ เด็กสามารถเรียนว่ายน้ำได้ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ

“รัฐบาลควรจะต้องยกระดับความสำคัญของปัญหานี้ให้เป็นปัญหาเร่งด่วน มันแก้ง่าย แก้แล้วเห็นผล อัตราการตายตอนนี้ 1,500 คนต่อปี เท่ากับ 10 ต่อ 100,000 ซึ่งในประเทศที่เขาทำการป้องกันได้ เขาทำจนลดเหลือ 2 ต่อ 100,000 นั่นหมายความว่าอีก 10 ปี เราจะมีคนตาย 15,000 ถ้าเราไม่ทำอะไร แต่ถ้าเราลงมือป้องกัน อัตราการตายจะเหลือแค่ 1 ใน 5 หรือ 3,000 คนต่อปี ในอีก 10 จะมีเด็กรอด 12,000 คน”

ขณะเดียวกัน จะต้องเผยแพร่องค์ความรู้และการป้องกันแก่ผู้ปกครองอย่างทั่วถึง ผ่านหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก โดยการดึงชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมดูแลจัดการด้วย

“แต่เราจะสอนแค่การว่ายน้ำอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อเด็กว่ายน้ำได้ เด็กก็จะว่ายน้ำมากมากขึ้น ถ้าเด็กไม่รู้ว่าน้ำเชี่ยว น้ำไหลแรง ไม่ควรว่าย แต่นึกว่าตัวเองว่ายได้ พวกนี้ก็จะเสี่ยง น้ำแบบใดเล่นได้ เล่นไม่ได้ การกระโดดจากสะพานลงมามีอันตรายอย่างไร การลงไปช่วยเหลือเพื่อนต้องทำอย่างไร ดังนั้น การสอนว่ายน้ำต้องควบคู่ไปกับการสอนความปลอดภัยทางน้ำด้วยเสมอ”

ด้านกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ก็จำเป็นต้องทำให้เกิดการบังคับใช้อย่างจริงจังเสียที อย่างเรื่องไลฟ์การ์ดก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดแล้วว่าหละหลวมแค่ไหน ไม่ใช่รอให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมาเสียก่อน แล้วค่อยตื่นตระหนกล้อมคอกอย่างที่สังคมไทยชอบทำมาโดยตลอด

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น