xs
xsm
sm
md
lg

หวัด 2009 คร่าชีวิตคนไทย 6 ราย ยอดสะสมพุ่ง 218 - สธ.เร่งสอบหาสาเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยหวัด 2009 ตายเพิ่ม 6 ราย 4 รายป่วยโรคเรื้อรัง 2 รายได้รับยาช้า เร่งสอบหาสาเหตุรู้ผลสัปดาห์หน้า ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนป้องกันยังต่ำ พบประชาชน 7 จังหวังรับวัคซีนต่ำกว่าร้อยละ 10 ชลบุรีน้อยสุด ประชาชนเชื่อมั่นวัคซีนแค่ร้อยละ 57 อีกร้อยละ 69.5 กลัวผลข้างเคียง

วันนี้ (8 มีนาคม) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ประจำสัปดาห์ว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2553 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 34,894 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 218 ราย โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 6 ราย มี 2 รายที่พบว่าเสียชีวิตจากการได้รับยาช้า รายแรกเป็นเด็กชายอายุ 1 เดือน ที่ จ.ชลบุรี รายที่สองเป็นชายอายุ 60 ปี ที่กทม. พบว่ามีโรคเบาหวาน และถุงลมโป่งพอง ทั้ง 2 กรณีได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบหาสาเหตุถึงการให้ยาช้า คาดว่าจะทราบผลในสัปดาห์หน้า ส่วนอีก 4 รายพบว่ามีโรคประจำตัว คือ 1.หญิงอายุ 18 ปี ที่ จ.นครนายก เสียชีวิตเนื่องจากอาการเบาหวานกำเริบ มีภาวะอ้วน และป่วยด้วยโรคตับ 2.ชายอายุ 58 ปี ที่ จ.พิษณุโลก ป่วยด้วยโรคปอดเรื้อรัง มะเร็งปอด ความดันโลหิตสูง 3.หญิงชราอายุ 71 ปี ที่ลำปาง ป่วยถุงลมโป่งพอง และ 4.หญิงชราวัย 83 ปี ที่กทม. เป็นเบาหวาน ร่วมด้วยหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง และไตเรื้อรัง

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงภายหลังได้รับวัคซีนจนถึงปัจจุบันพบทั้งสิ้น 22 ราย ในจำนวนนี้คณะกรรมการพิจารณาผลข้างเคียงหรือเหตุข้างเคียงที่อาจเกี่ยวพันกับการรับวัคซีนได้มีการพิจารณาเสร็จแล้วจำนวน 21 ราย สรุปว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ขณะนี้รอผลสรุปอีกเพียง 1 ราย เท่านั้น คือ หญิงตั้งครรภ์ อายุ 39 ปี ที่ จ.ลำปาง มีอายุครรภ์ 8 เดือน เนื่องจากพบทารกในครรภ์เสียชีวิตหลังรับวัคซีน

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า สำหรับการรณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 11 มกราคมจนถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบตัวเลขสะสมทั้งหมด 404,983 ราย อันดับหนึ่งยังคงเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 45.5 รองลงมาคือผู้ป่วยเรื้องรังร้อยละ 21.5 ทั้งนี้ จากการสำรวจในจังหวัดต่างๆ พบ 7 จังหวัด มีผู้เข้ารับวัคซีนต่ำกว่าร้อยละ 10 โดยจังหวัดที่มีตัวเลขผู้เข้ารับวัคซีนน้อยที่สุด คือ ชลบุรี ร้อยละ 7.3 สมุทรสงครามร้อยละ 7.9 สตูลร้อยละ 8.1 ราชบุรีร้อยละ 9.0 ปทุมธานีร้อยละ 9.6 กาญจนบุรีร้อยละ 9.6 และจันทบุรีร้อยละ 9.8 อย่างไรก็ตาม แม้สัปดาห์ที่ผ่านมาจังหวัดที่มีผู้เข้ารับวัคซีนน้อยที่สุดจะเหลือเพียง 7 จังหวัดจากก่อนหน้านี้พบถึง 10 จังหวัด แต่เรื่องดังกล่าวยังต้องมีการตรวจสอบหาสาเหตุ ซึ่งตนได้มอบหมายทางจังหวัดไปดำเนินการแล้ว และรายงานผลให้ทราบภายในสัปดาห์หน้า

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะจากเดิมตั้งเป้าให้รณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครบตามเป้าหมายภายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งยังขาดอีกประมาณ 1.6 ล้านคน หากไม่สามารถฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงจนครบ จะมีการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการต่อไป แต่ไม่ต้องกังวลว่าวัคซีนจะหมดอายุหรือไม่ เพราะวัคซีนดังกล่าวมีอายุเกิน 1 ปีอยู่แล้ว เพียงแต่วัคซีนหวัด 2009 ที่ระบุว่าต้องให้ภายใน 1 ปี เนื่องจากเกรงว่าเชื้อหวัด 2009 จะอยู่เพียงปีเดียว จากนั้นจะเปลี่ยนแปลง” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังเผยตัวเลขเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในตัววัคซีน ซึ่งพบว่า ประชาชนตื่นตัวต่อวัคซีนร้อยละ 68.35 โดยมีความเชื่อมั่นในระดับสูงร้อยละ 57.05 แสดงว่าประชาชนเชื่อมั่นวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนที่ไม่เชื่อมั่นสาเหตุจากกลัวผลข้างเคียงพบถึงร้อยละ 69.5 ซึ่งในต่างประเทศจะแตกต่างจากไทยมาก โดยสหรัฐฯ สำรวจช่วงเดือนกันยายน 2552 พบกลุ่มไม่เชื่อมั่นวัคซีน เพราะกลัวผลข้างเคียงเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทย ดังนั้น สธ.ยังคงเดินหน้ารณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงต่อไป

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบภูมิคุ้มกันภายหลังรับวัคซีนของกลุ่มเสี่ยงทุกคนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจากการตรวจสอบลักษณะดังกล่าว ต้องทำหลังจากรับวัคซีน 2 สัปดาห์จึงจะสามารถตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันได้ว่ามากน้อยเพียงใด โดยในสัปดาห์หน้าจะทราบผลเบื้องต้น ซึ่งจะเสนอให้รัฐมนตรี สธ.พิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น