xs
xsm
sm
md
lg

สังเวยหวัด 2009 อีก 3 ราย! สธ.เผย ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงยังไม่ตามเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เผยหวัด 2009 ตายเพิ่มอีก 3 ราย โรคเรื้อรัง 2 ราย อีก 1 รายให้ยาช้า ขณะที่กลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนร้อยละ 14.6 ยังไม่เป็นไปตามเป้า เดินหน้ารณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง ขณะที่พบอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน รวม279 ราย รุนแรง 19 ราย รอคคณะกรรมการวัคซีนสรุปผล 3 มี.ค.นี้ 7 ราย

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวภายหลังประชุมคณะผู้บริหารระดับสูงสธ.ว่า สถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 – 20 กุมภาพันธ์ 2553 มีผู้ป่วยสะสม 33,336 ราย โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 209 ราย สำหรับผู้เสียชีวิต 3 ราย มี 2 รายอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยรายแรกเป็นเด็กชายอายุ 2 ปี จ.กรุงเทพฯ ป่วยด้วยโรคปอดเรื้อรัง ส่วนรายที่สองเป็นผู้หญิงอายุ 65 ปี จ.เชียงใหม่ มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคไต ส่วนในรายที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่คาดว่าได้รับยาช้า คือ เด็กหญิงอายุ 6 ปี ที่ จ.พิษณุโลก จึงได้มอบนโยบายให้เน้นการให้ยาโดยทันที

“สัปดาห์ที่ผ่านมายังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า พบการระบาดเป็นกลุ่มใน 3 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ จ.ยโสธรเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา และจ.อุบลราชธานี เป็นโรงเรียนประถมศึกษา การรณรงค์ฉีดวัคซีนยังต้องเดินหน้าต่อไป พร้อมๆกับการให้ยาทันท่วงที” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการบริการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยง ขณะนี้มียอดฉีดวัคซีนสะสมเป็น 291,302 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.6 ของเป้าหมาย กลุ่มที่มีการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มผู้พิการ เนื่องจากความลำบากในการเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลโดยมียอดผู้รับบริการสะสมเพียง 3,321 ราย กลุ่มโรคอ้วน 8,541 ราย ส่วนหญิงตั้งครรภ์มีเพียง 18,532 ราย สาเหตุเพราะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย ส่วนกลุ่มที่มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่ที่ 107,454 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 152,923 ราย

นายจุรินทร์ กล่าวอกีว่า นอกจากนี้ การรณรงค์บริการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยงโดยสมัครใจ พบว่ามี 15 จังหวัดที่ยังมีผู้เข้ารับบริการต่ำกว่าร้อยละ 10 โดยสุพรรณบุรีต่ำสุดมีเพียงร้อยละ 3.7 รองลงคือ ปทุมธานีร้อยละ 4.6 ชลบุรีร้อยละ 5.6 กาญจนบุรีร้อยละ 5.8 ส่วนกทม.พบร้อยละ 6.8 ส่วนจังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสงคราม ภูเก็ต สตูล นนทบุรี จันทบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด

ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่า จากรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่มีอาการของโรคเรื้อรังร่วม ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งรณรงค์ให้กลุ่มที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังเข้ารับบริการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพราะมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มนี้มาก ล่าสุดตนได้สั่งการณ์ให้ทุกจังหวัด รายงานสถานการณ์การระบาด แนวทางการควบคุมมาให้ส่วนกลางรับทราบ รวมทั้งการดำเนินการรณรงค์เรื่องวัคซีน โดยให้ยึดหลักการรับบริการโดยสมัครใจ ซึ่งปกติระบบดังกล่าวมีการดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำให้เข้มข้นขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมควบควบคุมโรค รายงานเหตุไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม – 16 กุมภาพันธ์ 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 279 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.12 มีอาการรุนแรงทั้งสิ้น 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.008 ราย แบ่งเป็นบุคลากรสาธารณสุข 2 ราย หญิงตั้งครรภ์ 14 ราย และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอีก 3 ราย โดยยังเหลืออีก 7 รายที่ต้องรอข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลข้างเคียงหรือเหตุข้างเคียงที่อาจเกี่ยวพันธ์กับวัคซีน พิจารณาในวันที่ 3 มีนาคม 2553 อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นข้อมูลในภาพรวมและการสอบสวนเฉพาะรายยังไม่พบข้อมูลที่บ่งถึงความไม่ปลอดภัยของวัคซีน

สำหรับผู้ที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงภายหลังรับวัคซีนฯ ที่ยังต้องรอพิจารณาอีก 7 ราย ประกอบด้วย 1.บุคลากรทางการแพทย์ เพศหญิง อายุ 30 ปี จ.อุดรธานี พบมีอาการปากเบี้ยว เส้นประสาทสมอง ผิดปกติ แต่ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว 2.หญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปี อายุครรภ์ 5 เดือน จ.เพชรบุรี มีภาวะแท้ง สรุปเบื้องต้นคือ ทารกไม่สมบูรณ์น้ำคร่ำแห้ง 3.ชายอายุ 55 ปี ที่จ.อยุธยา ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นจากกล้ามเนื้อ หัวใจขาดเลือด 4. หญิงตั้งครรภ์อายุ 34 ปี อายุครรภ์ 9 เดือน ที่จ.นครนายก พบทารกเสียชีวิต คาดว่าแม่เป็นเบาหวาน

5.หญิงตั้งครรภ์อายุ 29 ปี ตั้งครรภ์ 6 เดือน ที่จ.ชุมพร หลังรับวัคซีนเป็นไข้อีก 4 วันจากนั้นทารกเสียชีวิต6.ชายอายุ 32 ปี ที่หนองคาย มีภาวะเบาหวาน เมลิออยโดซิส กินยาไม่สม่ำเสมอ จากการวินิจฉัยพบว่ามีไข้ตั้งแต่ก่อนรับวัคซีน และอาการหนักขึ้นหลังรับวัคซีนได้ 2 วัน จนกระทั่งเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิต เบื้องต้นสงสัยจากเชื้อเมลิออยโดซิสกลับซ้ำ เพราะผู้ป่วยกินยาไม่สม่ำเสมอ ทั้งๆ ที่อยู่ระหว่างการรักษา และ7.หญิงอายุ 42 ปี ตั้งครรภ์ 7 เดือนกว่า ที่จ.สกลนคร มีภาวะอ้วน ทารกเสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น