สระแก้ว - นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้วนำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็น ตัวอย่าง หลังพบยอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 9 ราย เร่งประชาสัมพันธ์กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีน
นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ 2553 จังหวัดสระแก้วมีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว 9,670 คน เป็นหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไปทั้งสิ้น 123 คน คิดเป็นร้อยละ 4.12 ของเป้าหมายหญิงมีครรภ์ทั้งหมด คนอ้วน 42 คน คิดเป็นร้อยละ 4.4 ผู้พิการ 16 คน คิดเป็นร้อยละ 2.1 ผู้ป่วยเรื้อรัง 189 คน คิดเป็นร้อยละ 6.7 และบุคลากรทางการแพทย์ 1,157 คน คิดเป็นร้อยละ 53.6 โดยภาพรวมแล้วจังหวัดสระแก้วมีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว 1,716 คน จากเป้าหมาย 9,670 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.75
สำหรับความคืบหน้าโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของจังหวัดสระแก้ว ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 มีผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในข่ายเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาเพิ่มขึ้นเป็น 211 ราย และเป็นผู้ป่วยยืนยันที่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 9 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันที่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทั้งสิ้น 60 ราย จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม เข้ารับการบริการฉีดวัคซีนฟรีที่โรงพยาบาลทุกแห่งโดยสมัครใจ เพราะมาตรการป้องกันดีกว่าที่จะตามมาแก้ไข หากเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงแล้วไม่ได้รับวัคซีน ความเสียหายจะรุนแรงมากกว่าและจะทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก
นายแพทย์พีระ กล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะนี้มีการดำเนินการทั่วโลก เพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดในระลอก 2 ซึ่ง วัคซีนที่ฉีดในไทย เป็นวัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อตาย ผลิตโดยเทคโนโลยี เป็นที่ยอมรับว่ามีความปลอดภัยสูงแก่ผู้ได้รับ ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่ามีความปลอดภัยเหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ตามฤดูกาลที่ฉีดมาหลาย 10 ปี ภายหลังการฉีดวัคซีนอาจจะมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย ได้แก่ ปวดบวม แดงที่รอยฉีด หรือปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายได้เองภายใน 1 – 3 วัน
“สาเหตุที่กลุ่มมาฉีดน้อยนั้นอาจมีความกังวล ในเรื่องความปลอดภัยวัคซีน หรืออาจจะเคยชินกับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จึงต้องเร่งรัดการประชาสัมพันธ์แจ้งกลุ่มเสี่ยงให้มาฉีดให้มากขึ้น โดยให้ อสม.ช่วยประชาชนสัมพันธ์ในหมู่บ้านที่รับผิดชอบ และในวันนี้ได้นำผู้บริหารสาธารณสุขจังหวัดมาฉีดเป็นตัวอย่าง เพื่อรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องฉีดได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง มีความมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน”
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสติดเชื้อโรคสูงและมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 5 กลุ่ม ที่ต้องไปรับการฉีดวัคซีน ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป คนอ้วนน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ผู้พิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ บุคคลที่เป็นโรคเรื้อรังอายุตั้งแต่ 6 เดือน – 64 ปี ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่อยู่ในระหว่างให้เคมีบำบัด โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องโรคเบาหวาน