xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายจากแสงแดด! ตากนานๆ ถึงมะเร็ง-มองแสงจ้าบ่อยมีสิทธิ์บอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรคแนะนำประชาชนที่ตากแดดหรือมองบริเวณที่มีแสงมาก เสี่ยงอาการผิวหนังไหม้ ตาอักเสบ หากมากเกินไปอาจเป็นมะเร็งผิวหนังหรือตาบอดได้

กรมควบคุมโรค แนะนำประชาชนที่ตากแดดหรืออยู่กลางแจ้งบ่อยๆ รวมถึงการมองบริเวณที่มีแสงมากเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดอาการผิวหนังอักเสบและไหม้ หน้าลอก ตาอักเสบ หากจ้องมองบริเวณที่มีแสงจ้านานเกินไปอาจทำให้ตาบอดได้ นอกจากนี้การตากแดดยังทำให้แก่เร็วและมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย

วันนี้ (7 มี.ค.) นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากเหตุการณ์เมื่อปี 2552 นักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงาเกิดอาการเจ็บตาหมู่ กรมควบคุมโรคได้ส่งทีมสอบสวนโรคของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ พบว่า
 
มีนักเรียนจำนวนกว่า 50 ราย ได้รับรังสียูวีจากแสงแดดที่สะท้อนมาจากหลังคาอาคารหลังใหม่ ตกมากระทบตรงตำแหน่งที่นักเรียนนั่งทำกิจกรรมโดยได้รับรังสีนานกว่า 30 นาที และส่งผลให้นักเรียนเกิดอาการตาอักเสบ ผิวหนังอักเสบและไหม้ หน้าลอก
 
ในจำนวนนี้พบนักเรียนที่มีอาการรุนแรง จำนวน 21 ราย ซึ่งเป็นอาการของโรค UV BURN หรืออาการผิวหนังไหม้จากรังสียูวี (อัลตราไวโอเลต) ซึ่งรังสียูวีวัดได้โดยใช้ค่าดัชนีของรังสียูวี เริ่มตั้งแต่น้อยกว่าระดับ 2 ถือว่าบริเวณนั้นมีรังสียูวีต่ำ ระดับ 3-5 เป็นระดับที่พอดีและให้ประโยชน์แก่ผิวหนัง เช่น การตากแดดช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 06.00-09.00 น. จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรงป้องกันโรคกระดูกพรุน และช่วยทำให้จิตใจแจ่มใส ระดับ 6-10 เป็นระดับที่สูงเกินไปและมีผลต่อผิวหนังแต่ยังไม่ปรากฏอาการชัดเจนมากนัก ระดับมากกว่า 11 เป็นระดับที่ถือว่าอันตราย เพราะหากตากแดดติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป จะทำให้เกิดอาการผิวหนังหรือหน้าแดง มีการลอกของผิวหนังหรือมีการไหม้แดดตามมา และอาจเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ถ้ามองแสงสว่างจัดมากเกินไปอาจทำให้กระจกตาอักเสบหรือถึงขั้นตาบอดได้
 
โดยรังสียูวีจะมีผลต่อผิวหนังของคนเราที่ต่างกันออกไป เพราะผิวหนังของแต่ละคนจะมีความไวต่อแสงแดดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สีผิวและสภาพผิว เชื้อชาติ ช่วงอายุ ช่วงเวลาที่โดนแสงแดด ซึ่งหมายถึงความเข้มของแสงที่ได้รับในแต่ละวัน ระยะเวลาที่โดนแสงแดด และสะสมเป็นเวลานาน ส่วนพื้นที่ที่มีค่าดัชนีของรังสียูวีมาก ก็คือ บริเวณพื้นที่ภาคใต้ของไทย มีค่าดัชนีของรังสียูวีเป็น 11 เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ที่มีค่าดัชนีของรังสียูวีประมาณ 8 เท่านั้น

นพ.มานิต กล่าวต่อไปว่า วิธีดูแลรักษาตนเองให้ปลอดภัยจากโรค UV BURN หรืออาการผิวหนังไหม้จากรังสียูวี โดยการหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. พยายามหลบแสงแดดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกที่ทุกเวลา สวมหมวกปีกกว้าง แว่นตากันแดดหรือกางร่มเมื่อต้องเจอแสงแดดและทำกิจกรรมต่างๆกลางแจ้ง สวมเสื้อผ้าให้ปิดร่างกายมิดชิด ทาครีมกันแดดในบริเวณผิวหนังที่ไม่สามารถป้องกันด้วยเสื้อผ้า เช่น บริเวณใบหน้าหรือหลังมือ หลีกเลี่ยงการจ้องมองแสงโดยตรงหรือแสงที่สะท้อนจากวัตถุต่างๆ เช่น ป้าย หลังคา รถยนต์ เป็นต้น สำหรับโครงการก่อสร้างหรือการออกแบบอาคารใดๆ ควรมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพหรือเหตุรำคาญที่อาจเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น