xs
xsm
sm
md
lg

“ครีมกันแดด” เลือกอย่างไร ใช้อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันนี้ แสงแดดในหน้าร้อนทวีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากชั้นโอโซนถูกทำลายด้วยมลภาวะที่มีมากขึ้นทำให้ทุกวันนี้ “ครีมกันแดด” กลายเป็นของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย หรือเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพผิว ก็มักจะซื้อครีมกันแดดมาใช้ แต่เชื่อแน่ว่ายังคงมีคนรักผิวอีกเป็นจำนวนมาก ยังคงสับสนในข้อมูลรายละเอียด ตลอดจนวิธีดู วิธีเลือก รวมไปถึงวิธีใช้ครีมกันแดดที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

นพ.จิโรจน์ สินธวานนท์
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ไขสารพัดข้อข้องใจในประเด็นนี้ว่า แสงแดดเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก แต่ก็มีโทษอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะสภาพแดดที่ร้อนขึ้นในยุคนี้

“หากตากแดดมากๆ ก็ส่งผลเสียได้ ระยะสั้นทำให้ดำลง เกรียมแดด แต่ถ้าตากมากๆ บ่อยๆ สะสมเอาไว้ ก็มีสิทธิเป็นมะเร็งผิวหนัง เวลาเราตากแดดมากๆ เราจะเกรียมแดด ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากรังสียูวีหรืออัลตร้าไวโอเลต ที่ในแสงแดดมีทั้งยูวีชนิดเอและยูวีชนิดบี ชนิดเอจะทำให้ผิวคล้ำขึ้นในขณะที่ชนิดบีจะทำให้เกรียมแดด แต่สองชนิดนี้กระตุ้นให้เกิดมะเร็งผิวหนังทั้งคู่โดยจะเสริมฤทธิ์ของกันและกัน แสงยูวีชนิดบีจะมีช่วงคลื่นอยู่ระหว่าง290-320 นาโนเมตร และชนิดเออยู่ที่ 320-400 นาโนเมตร ชนิดบีจะทำปฏิกิริยากับผิวชั้นตื้น ในขณะที่ชนิดเอจะยาวและทำลายได้ลึกกว่า ยูวีทั้งสองชนิดนี้จะมาพร้อมกันเป็นแถบเลยเวลาแดดออก”


แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังรายนี้อธิบายต่อไปอีกว่าเมื่อก่อนนี้การศึกษาวิจัยและการพัฒนาการผลิตครีมกันแดดนั้นเข้าใจกันว่าเฉพาะรังสียูวีชนิดบีเท่านั้นที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และคิดว่ายูวีชนิดเอทำให้ผิวคล้ำลงเท่านั้น ชาวตะวันตกที่มักจะชอบย้อมผิวเป็นสีแทนด้วยการอาบแดดจึงผลิตแต่ครีมกันแดดที่ป้องกันยูวีชนิดบีเท่านั้น ไม่ได้ผลิตแบบป้องกันชนิดเอเพราะยังนิยมทำผิวแทนในความเชื่อว่ายูวีชนิดเอไม่ส่งผลให้เกิดมะเร็ง

“แต่หลังจากการศึกษาที่พบว่ายูวีชนิดเอก็ก่อมะเร็งได้ จึงมีการคิดผลิตครีมกันแดดที่ป้องกันยูวีชนิดเอด้วย แต่ก็ใหม่มาก เพิ่งเริ่มมาได้ประมาณสิบปีนี้เอง ดังนั้นในขณะนี้จึงมีทั้งครีมกันแดดที่มีทั้งชนิดที่ป้องกันยูวีบีแต่เพียงอย่างเดียว และมีที่แบบป้องกันได้ทั้งชนิดเอและบีด้วย”

นพ.จิโรจน์กล่าวต่อถึงสิ่งที่หลายคนยังสงสัยคือค่า Sun Protection Factor หรือที่ได้ยินบ่อยๆ ในโฆษณาและหน้าฉลากผลิตภัณฑ์ว่า “ค่าSPF” ว่า ค่านี้คือค่าการปกป้องผิวจากแสงแดด ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งป้องกันแสงได้มากเท่านั้น

“วิธีการหาค่า SPFในห้องปฏิบัติการแบบคร่าวๆ ที่อธิบายง่ายๆ ก็คือ สมมติว่าหากผิวปกติไม่ทาครีมแล้วไปตากแดดประมาณ 50 มิลลิจูน ผิวจะแดง ในการทดลองค่า SPF ของครีมกันแดดนั้นๆ ก็จะนำครีมมาทาผิว แล้วกลับออกไปตากแดดในปริมาณเท่ากัน สมมติว่าคราวนี้ได้ 150 มิลลิจูนถึงจะแดง ก็เอา 150 มาหารผลครั้งแรกคือ 50 ก็จะได้ออกมาเป็นค่า SPF ในกรณีนี้ก็คือค่าเท่ากับ3”


แต่ที่ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ก็คือ ตามปกติแล้วการทดลองหาค่า SPF ในห้องปฏิบัติการนั้น จะมีมาตรฐานการทาครีมให้หนาตามกำหนด แต่ในชีวิตจริงๆ ของการใช้ทั่วไปของประชาชนจะทาบางกว่ามาก

“ในแล็ปจะมีข้อกำหนดให้ทาครีมหนาค่อนข้างมาก คือประมาณ 2 มิลลิกรัม ซึ่งในวิถีประจำวันของคนไม่ได้ทาหนาขนาดนั้น เพราะมันจะขาววอกไปทั้งหน้า เราจะทาแค่พอบางๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของครีมกันแดดลดลง เช่นถ้า SPF ข้างขวดเขียนไว้ 40 มันคือ 40 ที่การทาหนา 2 มิลลิกรัมบนพื้นผิว เมื่อเราทาบางมันอาจจะเหลือแค่ 10 หรือแค่8 อันนี้ต้องระวัง ทางออกก็คือทาบ่อยๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้อากาศร้อน เหงื่อไหลออกมาลบครีม แนะนำว่าควรจะทาครีมกันแดดทุก 3 ชั่วโมง หรือทาเช้า เที่ยง แต่จะดีมากหากได้ทาตอนเย็นด้วย”

นพ.จิโรจน์กล่าวว่า ในสภาพอากาศและแดดแรงอย่างเมืองไทย ครีมกันแดดถือเป็นผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวที่ค่อนข้างจำเป็น โดยเฉพาะคนที่ต้องตากแดดบ่อยๆ โดย ค่า SPF ที่เหมาะสมที่จะใช้ทั่วไปสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศหรือคนที่ทำงานในร่มและต้องออกแดดเป็นบางครั้งอยู่ที่ 20-30 ในขณะที่ SPF สำหรับคนที่มีกิจกรรมกลางแจ้งความจะสูงประมาณ 40-50

“ส่วนวิธีการเลือกซื้อครีมกันแดด ควรซื้อที่มีทั้งการปกป้องผิวจากยูวีเอและยูวีบี ค่าที่ปกป้องยูวีบีคือ SPF แบบทั่วๆ ไป แต่ค่าปกป้องยูวีเอจะไม่เหมือนกัน หากเป็นยี่ห้อจากฝั่งอเมริกาจะเขียนว่าค่าPA+ ที่มีค่าสูงสุดจะมีเครื่องหมายบวก 3 อัน ส่วนยี่ห้อจากฝั่งญี่ปุ่นจะมีสัญลักษณ์เป็นรูปดาว โดยสูงที่สุดคือ 4 ดาว ดังนั้นผู้บริโภคควรจะสังเกตและสอบถามผู้ขายให้ดีก่อนซื้อว่าครีมกันแดดยี่ห้อนั้นๆ ป้องกันผิวได้มากน้อยแค่ไหน และสามารถป้องกันแสงยูวีได้ทั้ง 2 ชนิดหรือไม่”
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น