“มะเร็ง” มหันตภัยเล็กแต่ทว่าร้ายกาจ ที่เติบโตจากจุดเล็กๆ ที่เซลล์ในร่างกาย ก่อนจะขยายโตขึ้นและลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ พิษภัยของมันคร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกและเป็นอันดับ1 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย แต่ด้วยวิทยาการด้านการแพทย์ที่ถูกพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เทคนิคการตรวจคัดกรองมะเร็งมีประสิทธิ์ภาพมากขึ้น รวมไปถึงนวัตกรรมยารักษาใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสในการรักษาผู้ป่วยให้มีสิทธิหายหากตรวจพบตั้งแต่เป็นระยะแรกๆ
ผศ.นพ.วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต หัวหน้าสาขาวิชาเคมีบำบัด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลและนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลโรคมะเร็งว่า จากสถิติในปีพ.ศ.2550 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 8 ล้านคนทั่วโลก และ 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นพลเมืองในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา
“มะเร็งคือเซลล์ของร่างกายของตัวเองที่เกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมหรือพันธุกรรม ทำให้เซลล์มะเร็งโตขึ้นเรื่อยๆ ต่างกับเซลล์อื่นๆ ที่จะเติบโตขึ้นถึงจุดหนึ่งแล้วจะหยุด และตายไป ในขณะที่เซลล์มะเร็งจะโตขึ้นไม่หยุดและกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ในร่างกาย สำหรับในประเทศไทย มะเร็งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิต และข้อมูลจากหนังสือ Cancer in Thailand Vol.5 ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปีพ.ศ.2544-2547 พบว่ามะเร็งที่พบมากในชายไทย 5 อันดับแรกได้แก่ มะเร็งตับ-ท่อน้ำดี,มะเร็งปอด,มะเร็งลำไส้ใหญ่,มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในเพศหญิงได้แก่มะเร็งเต้านม,มะเร็งปากมดลูก,มะเร็งตับ-ท่อน้ำดี,มะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่”
แม้ว่าในโลกยุคปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่เร่งให้อัตราการป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเครียด มลภาวะ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงอาหารการกิน ทว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งรายนี้ก็ยังยืนยันให้เราๆ ท่านๆ ใจชื้นขึ้นมาได้บ้างว่า30-40% ของโรคมะเร็งสามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักการป้องกันมะเร็งของUICC (International Union Against Cancer) คือหยุดสูบบุหรี่และเลี่ยงการสูบบุหรี่มือสอง,เลี่ยงการรับแสงแดดซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง,เลี่ยงการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์,คุมน้ำหนักให้สมดุล กินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อที่จะนำไปสู่โรคมะเร็ง
ผศ.นพ.วิเชียรให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่พบมะเร็งในระยะเริ่มต้นที่ตรวจพบและเข้ารับการรักษาทันทีสามารถรักษาให้หายได้ แต่คนส่วนใหญ่เมื่อทราบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งก็มักจะท้อแท้และหมดหวัง บางคนทิ้งการรักษากลางคันเพราะคิดว่ารักษาไปก็ไม่หาย บางคนเชื่อและเลือกที่จะรักษาในแนวแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ที่หน่วยงานวิชาการด้านการแพทย์ไม่รับรองทำให้เสียโอกาสทางการรักษาในวิถีมาตรฐาน
“หลายคนเข้าใจว่ามะเร็งมีสาเหตุหลักมาจากกรรมพันธุ์ แต่จริงๆ แล้วมีแค่ 10% เท่านั้นที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ที่เหลืออีก 90% เกิดจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ได้แก่อาหารการกิน อากาศสภาพแวดล้อม รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการพาตัวเองเข้าไปใกล้ความเสี่ยงต่างๆ เช่นการติดเชื้อ หรือการอักเสบบ่อยๆ ของบางอวัยวะที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงให้เป็นมะเร็งได้”
ด้านผศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ จากหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นหากสามารถควบคุมได้ก็จะลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้
“เป็นที่ยืนยันชัดว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด ดังนั้นการงดและเลิกสูบบุหรี่รวมถึงการเลี่ยงการสูบบุหรี่มือสองก็เป็นพฤติกรรมการลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้วิธีหนึ่ง ส่วนเรื่องของอาหารก็ได้รับความสนใจมากขึ้นในขณะนี้ มีการศึกษาว่าอาหารชนิดไหนมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีกากใยมาก ทำให้ร่างกายแข็งแรง และอาหารชนิดไหนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ”
คุณหมอจากหน่วยมะเร็ง รพ.รามาฯ ให้ข้อมูลด้านอาหารต่อไปอีกว่า อาหารไทยเป็นอาหารที่ค่อนข้างได้เปรียบ เพราะอุดมไปด้วยพืชผักสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณทางยา แต่ปัจจุบันเทรนด์การกินอาหารของบ้านเราเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น ความนิยมในการบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารฟาสต์ฟู้ดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในวัยรุ่นค่อนข้างน่าเป็นห่วง ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นอาหารไขมันสูง มีการทอดที่อาจใช้น้ำมันซ้ำ หากเลี่ยงได้และหันกลับมากินอาหารไทยๆ ที่มีผักมากก็ถือเป็นการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง
“มีมะเร็งบางชนิดที่บ้านเราไม่ค่อยพบแต่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ในต่างประเทศ จึงมีการรณรงค์ให้เลี่ยงการตากแดดจัดๆ เป็นเวลานานๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังด้วย นอกจากสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ30-45นาที สัปดาห์ละ 5 วันก็เป็นเกราะสุขภาพที่ดีในการป้องกันความเสี่ยงมะเร็งและรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย”
ผศ.นพ.เอกภพอธิบายถึงวิธีการสังเกตอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นมะเร็ง ซึ่งผู้มีอาการดังต่อไปนี้ควรไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดเพราะหากเป็นมะเร็งจริงๆ จะได้รักษาได้ทันท่วงที อาการเหล่านี้ก็คือน้ำหนักลดลงเองโดยไม่ได้ควบคุมอาหาร เบื่ออาหาร ไข้เรื้อรัง อ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดตามกระดูก ข้อ และปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยกินยาแล้วก็ไม่ดีขึ้น ท้องผูกสลับท้องเสีย ระบบขับถ่ายผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นแผล 4-6 สัปดาห์ไม่หาย ไฝปานขยายกว้างขึ้น อาหารไม่ย่อย ไอและเสียงแหบเรื้อรัง
“ที่บอกนี่ไม่อยากให้ตระหนก เพราะอาการเหล่านี้เป็นโรคอื่นก็สามารถมีอาการได้ แต่อยากให้สังเกตหากอาการเหล่านี้เรื้อรังหรือผิดปกติควรใส่ใจและมาพบแพทย์ เดี๋ยวนี้วิวัฒนาการการรักษามะเร็งก้าวไกลขึ้นมาก หากมาพบตั้งแต่เริ่มเป็นในระยะเริ่มต้นมีสิทธิรักษาหายเพิ่มขึ้น”
ผศ.นพ.เอกภพทิ้งท้ายด้วยว่าปัจจุบันการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและวัคซีนลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่นวัคซีนป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมมีนวัตกรรมที่พัฒนารุดหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็ง ดังนั้นประชาชนควรใส่ใจที่จะไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีหรือตามกำหนดที่แพทย์แนะนำ