xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ผุดหลักสูตรเอาชีวิตรอดในน้ำ ป้องกันเด็กจมน้ำตาย เล็งลดได้ 100 ราย/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“จุรินทร์” ควง “พรรณสิริ” เปิดวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ เล็งลดเด็กตายจากจมน้ำอย่างน้อยปีละ 100 ราย เผยเด็กไทยว่ายน้ำไม่เป็น 11 ล้านคน พบเข้ารักษาตัวจากจมน้ำปีละ 1,150 ราย พร้อมจัดทำหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เรียน 15 ชั่วโมง นำร่อง จ.ราชบุรี สุรินทร์ เพชรบูรณ์ และ โคราช

วันนี้ (6 มี.ค.) ที่สวนน้ำ สยามพาร์ค ซิตี้ กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานเนื่องใน “วันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ” ซึ่ง สธ.กำหนดให้เป็นวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เริ่มจัดในปี 2553 เป็นปีแรกในประเทศไทย และตั้งเป้าจะลดการตายจากการจมน้ำของเด็กให้ได้ปีละอย่างน้อย 100 คน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กไทย อายุ 5-14 ปี ที่มีจำนวน 13 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ ในปี 2549 พบเด็กวัยนี้ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 หรือจำนวน 2 ล้านคน กล่าวได้ว่ายังมีเด็กไทยที่ว่ายน้ำไม่เป็น 11 ล้านคน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เสี่ยงเสียชีวิตหากตกน้ำหรือจมน้ำ เนื่องจากไม่สามารถเอาตัวรอดได้ โดยมีเด็กจมน้ำเข้ารักษาตัวและนอนในโรงพยาบาลปีละ 1,150 ราย มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลปีละกว่า 12 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 12,000 บาท ระยะเวลานอนในโรงพยาบาลสูงสุดประมาณ 201 วัน สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยว่ายน้ำไม่เป็น เนื่องจากโอกาสที่จะฝึกว่ายน้ำของเด็กไทยอยู่ในวงจำกัด การสอนว่ายน้ำที่มีอยู่ยังขาดทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด การป้องกันอุบัติภัยทางน้ำและการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า การป้องกันการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำ ในปีนี้ สธ.มีนโยบายให้ทุกจังหวัด เร่งป้องกันเด็กจมน้ำให้เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป หรือในผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำไม่เป็น โดยในเดือนพฤษภาคมนี้จะจัดอบรม เพื่อให้เป็นครูสอนว่ายน้ำตามหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ที่ จ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้ หากเด็กสามารถฝึกฝนทักษะดังกล่าวได้จนชำนาญ จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต และเด็กไทยก็จะไม่เสียชีวิตจากการจมน้ำ

ด้าน นางพรรณสิริ กล่าวว่า สธ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดสำเร็จแล้ว เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเอาชีวิตรอดในน้ำ ใช้เวลาเรียน 15 ชั่วโมง โดยได้รับงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก และนำร่องที่จ.ราชบุรี สุรินทร์ เพชรบูรณ์ และ นครศรีธรรมราชแล้ว ผลการดำเนินงานมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก บางพื้นที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัดต่อไป

“อยากเห็นเด็กไทยทั้ง 13 ล้านคน ได้รับวัคซีนป้องกันการจมน้ำครบ 100% เช่นเดียวกับที่เด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ ถึงแม้จะสร้างยากกว่าวัคซีนตัวอื่นๆ เพราะไม่ใช่การฉีดหรือการหยอด หากทุกหน่วยงานร่วมมือกัน เด็กทุกคนก็จะได้รับโอกาสนั้น ไม่ว่าเด็กจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน มีสระว่ายน้ำหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ในการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ สามารถทำได้หลายวิธี กรณีไม่มีอุปกรณ์เกาะพยุงตัวให้ใช้วิธีลอยตัวในน้ำ เช่น การลอยตัวแบบแม่ชีลอยน้ำ แต่หากมีอุปกรณ์ เช่น ขวดน้ำเปล่าพลาสติก ก็สามารถใช้เกาะพยุงตัวได้ และถึงแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น แต่หากพลัดตกลงไปในน้ำที่ห่างจากฝั่งมากๆ อาจจะไม่สามารถว่ายน้ำเข้าหาฝั่งได้ วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ การลอยตัวอยู่ให้ได้นานที่สุด เพื่อรอการช่วยเหลือ” รมช.สธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น