“ชัยวุฒิ” ยันศูนย์รับตรง สกอ. คืบแล้วกว่า 80% ยันไม่จุ้นเรื่องข้อสอบ แค่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางรวบรวมข้อมูลมหาวิทยาลัยให้เด็ก
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการตั้งศูนย์รับตรง ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่า ขณะนี้คณะทำงานเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (รับตรง) ได้สอบถามความคิดเห็นจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลการสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยและมีการกำหนดรูปแบบในการดำเนินการไปแล้วกว่า 80% ซึ่งตนได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ทันใช้ในการรับนักศึกษาปีการศึกษา 2554 นี้
อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ออกมาระบุว่าขอดูรายละเอียดของระบบรับตรงดังกล่าวก่อนเพราะไม่มั่นใจข้อสอบว่าสามารถคัดเด็กได้ตรงตามความถนัดตามที่มหาวิทยาลัยต้องการหรือไม่ นั้น ตนขอยืนยันว่าระบบนี้จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสอบตรงของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเฉพาะทาง อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งการที่ทั้ง 2 แห่ง ออกมาระบุเช่นนั้นอาจเพราะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะหน้าที่ของศูนย์รับตรงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ คือการเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลการรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงจะกระชับช่วงเวลาที่เปิดรับไม่ให้ห่างกันมาก เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเปิดรับตรงในช่วงเวลาที่ต่างกันเพื่อชิงเด็กเก่งเข้าเรียน ทำให้เด็กต้องวิ่งตามข้อมูลและบางครั้งก็พลาดทำให้ไม่ได้เข้าเรียนในสาขาที่ต้องการ เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องการแก้ปัญหาเด็กสละสิทธิ์รับตรงเพราะสมัครแอดมิชชันได้คณะที่ดีกว่า แต่มีปัญหาไม่สามารถสละสิทธิ์ได้เพราะไม่ได้สละสิทธิ์ตามกำหนด หรืออยากกลับไปใช้สิทธิ์รับตรงแต่มหาวิทยาลัยตัดชื่อไปแล้วเพราะนักศึกษาไม่ได้มายืนยันตามเวลาที่กำหนด และทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องการสอบนั้นก็ไม่ได้บังคับให้มหาวิทยาลัยต้องใช้คะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT และการสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT เป็นองค์ประกอบ มหาวิทยาลัยยังมีสิทธิ์คัดเลือกเด็กได้เอง โดยคณะใดที่ต้องการสอบตรงก็ยังสามารถจัดสอบเองได้ ขณะที่จากการตรวจสอบพบว่ามหาวิทยาลัยกว่า 60% ที่รับเด็กโดยวิธีรับตรงเพราะไม่มั่นใจในสัดส่วนการแอดมิชชันที่ที่ประชุมอธิการบดี(ทปอ.)กำหนด ดังนั้นจึงไปกำหนดสัดส่วนในการรับตรงเองแต่ส่วนใหญ่ยังคงใช้คะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไปหรือGAT และการสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือPAT คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือGPAX และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือ O-NET เป็นองค์ประกอบ เพียงแต่ปรับสัดส่วนมากน้อยตามที่ต้องการ
“อยากให้เข้าใจว่าศูนย์ฯ แห่งนี้ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายหรือมาจัดสอบ กำหนดสัดส่วนอะไร เราเพียงแต่อยากเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ส่งข้อมูลการสมัครของเด็กที่มาสมัครไปยังมหาวิทยาลัยที่เขาสมัคร และเด็กจะสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ ซึ่งลักษณะนี้เหมือนกับศูนย์ U-Cass ของต่างประเทศที่เราไปศึกษาตัวอย่างมา อย่างไรก็ตามเบื้องต้นได้มีการชี้แจงเรื่องนี้ต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ไปบ้างแล้ว ยังเหลือมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยรัฐ โดยจะมีการชี้แจงเร็วๆ นี้ เมื่อเตรียมการเรียบร้อยก็จะนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นอีกครั้งเพื่อนำมาปรับปรุงให้เหมาะสม” รมช.ศธ.กล่าว