สจล. - มจธ. อิดออดศูนย์รับตรงของ สกอ. ยันไม่ค้านแต่อาจไม่เข้าร่วม พร้อมระบุไม่เชื่อมั่น GAT/PAT คัดคนได้ตรงศักยภาพ ความต้องการจริง ขอเวลาดูรายละเอียดก่อน
ศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำลังจะตั้งศูนย์กำหนดรูปแบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (รับตรง) โดยมี สกอ.เป็นหน่วยงานกลางว่า ขณะนี้ สจล.รับสมัครนักศึกษาผ่านระบบการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือ แอดมิชชัน เพียง 48% เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ สจล.จะรับนักศึกษาผ่านระบบรับตรงเองอยู่แล้ว และหาก สกอ.จะตั้งศูนย์รับตรงขึ้นมานั้นถือเป็นเรื่องดีแต่ สจล.จะเข้าร่วมหรือไม่คงต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้ง
“เราคงต้องดูรายละเอียดให้ถี่ถ้วนเพราะหากรวมศูนย์รับตรงได้และทุกมหาวิทยาลัยยอมรับก็เท่ากลับว่ากลับมารวมศูนย์รับนักศึกษาระบบกลางเหมือนเดิม และไม่แน่ใจว่าข้อสอบที่จะใช้สามารถคัดเด็กที่มีความสามารถตรงตามที่มหาวิทยาลัยต้องการได้หรือไม่ เพราะทุกวันนี้ สจล.รับตรงเองและมั่นใจว่าข้อสอบว่าสามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามความสามารถจริง ๆ ไม่เกิดปัญหาดรอปเรียนหรือออกกลางคัน” อธิการบดี สจล.กล่าว
ศ.ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สจล.ไม่ได้คัดค้านที่ สกอ.จะตั้งศูนย์รับตรงแต่ต้องขอดูหลายรายละเอียด อาทิ เรื่องข้อสอบที่ใช้ เพราะ สจล.เป็นหนึ่งใน 3 มหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่คะแนนการสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ในการรับตรง เพราะต้องการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนให้ได้ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยจริงๆ และขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่รับตรงเกือบ 100% อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งขณะนี้เป็นประธานที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ก็รับตรงถึง 80%
ด้าน รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่าขณะนี้ มจธ.พยายามควบคุมไม่ให้รับตรงเกิน 70% และการที่ สกอ.มีแนวคิดเรื่องศูนย์รับตรงขึ้นมาก็เพื่อลดภาระไม่อยากให้เด็กต้องวิ่งสอบ และให้ใช้คะแนนสอบ GAT/PAT เป็นคะแนนกลาง ซึ่งตนก็เห็นด้วยเพราะเด็กจะได้ไม่ต้องวิ่งสอบ แต่เท่าทีดูข้อสอบ GAT/PAT ยังเน้นวัดความรู้ตามรายวิชา ไม่ใช่การวัดศักยภาพผู้เรียนว่าจะเรียนได้หรือไม่ อีกทั้งระบบรับตรงนั้นมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถกำหนดวิธีการและออกข้อสอบได้เอง ทำให้สามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามศักยภาพจริงๆ ซึ่งศูนย์รับตรงอาจจะไม่ตรงกับธรรมชาติของมหาวิทยาลัยที่ต้องการคัดเด็กให้ตรงตามความถนัด
“ส่วนจะเข้าร่วมหรือไม่นั้นเรื่องนี้คงยังไม่สามารถตอบได้เพราะการรับเด็กเข้าเรียนมีตัวแปรอยู่เยอะ ซึ่ง มจธ. เองพยายามจะคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถจากทั่วประเทศเข้าเรียน ดังนั้นจึงพยายามใช้วิธีการรับที่ให้โอกาสเด็กอย่างทั่วถึงที่สุด” อธิการบดี มจธ. กล่าว