“เราไม่เคยปฏิเสธการรักษา ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่กำลังรอการพิสูจน์สถานะบุคคล การที่เขามาหาเราแปลว่าอาการหนักมากแล้ว เกินขีดที่เขาจะเยียวยาตัวเองไหว เขาจึงมา เพราะเขาก็รู้ตัวดีว่า ไม่มีเงิน และไม่มีสิทธิ์”
คำชี้แจงของ นพ.กฤษฎา วุธยากร ผอ.รพ.สังขละบุรี รพ.ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดชายแดนพม่า ที่อธิบายถึงสถานการณ์การบริการสาธารณสุขให้กลุ่มคนไทยไร้สถานะในพื้นที่ เนื่องจากผู้ป่วยมารักษาด้วยอาการหนัก ผลสะท้อนจึงออกมาเป็นสถิติ โดยผู้ป่วยในจะพบว่าสัดส่วนการครองเตียงของกลุ่มคนไร้หลักประกันสุขภาพมีสูงกว่ากลุ่มที่มีหลักประกันสุขภาพ และตรงกันข้ามกับสถิติผู้ป่วยนอก ที่กลุ่มคนไร้หลักประกันสุขภาพจะมีอัตราน้อยกว่ากลุ่มคนที่มีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งนั่นหมายถึง “การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ”
นพ.กฤษฎา บอกว่า ทุกครั้งที่เห็นข้อมูลนี้ เสียดายเวลาสำคัญที่ปล่อยผ่าน เพียงเพราะเราตัดสินคนด้วยปัจจัยเดียวคือเรื่องสัญชาติที่ทำให้เขาตกหล่นและไร้สิทธิใดๆ แม้กระทั่งสิทธิสุขภาพ
“หลายโรคถ้ารักษาตั้งแต่แรกเริ่ม อาการจะไม่หนักมาก เราจะไม่สูญเสียทรัพยากรมากในการรักษา แต่เพราะไม่มีหลักประกันสุขภาพแถมเป็นคนจนอีก ทำให้โรครุนแรงขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมค่าใช้จ่ายด้านยาของโรงพยาบาลจึงสูงขึ้นทุกปี เป็นเพราะโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ยาที่ใช้เดิมๆ ใช้ไม่ได้ผล ต้องใช้ยาแรงขึ้น พอค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลเองอีก โรงพยาบาลก็เป็นหนี้สูงขึ้น ปัญหาก็วนเป็นงูกินหางอย่างนี้ แก้แบบไม่รู้จบต่อไป”
สถานการณ์ที่ รพ.สังขละบุรีเผชิญเป็นปัญหาใหญ่ของโรงพยาบาลรัฐทั้ง 172 แห่ง ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโรงพยาบาลต้องแบกรับภาระการช่วยรักษากลุ่มคนไร้สถานะ โดยไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมานานเกือบ 8 ปี
พื้นที่ อ.สังขละบุรี มีกลุ่มคนไทยไร้สถานะประมาณ 20,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ใช่แรงงานต่างด้าว เป็นกลุ่มคนที่เผชิญปัญหาการพิสูจน์สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติไทย และพวกเขาถูกตราหน้าว่าไม่ใช่คนไทย ทั้งที่ตั้งรกรากบนผืนแผ่นดินไทยมาเนิ่นนาน เหมือนชาวจีนอพยพหลายรุ่น โชคร้ายอยู่ตรงที่ว่าพวกเขาเลือกอยู่ตรงชายขอบของประเทศ จึงกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่ได้เป็นคนของประเทศไหนในโลกนี้ ปัญหาความไร้สัญชาติ ก็คือ สภาพที่บุคคลไม่มีสัญชาติของประเทศใดเลยในโลก ไม่ได้รับการยอมรับให้ “สิทธิอาศัย” โดยรัฐใด โดยผลของกฎหมาย บุคคลในสถานการณ์นี้จึงตกเป็น “คนผิดกฎหมาย” ในทุกประเทศของโลก บุคคลในลักษณะนี้จึงตกเป็น “คนไร้รัฐ” (Stateless) โดยสิ้นเชิง และไม่ใช่กระทั่งแรงงานต่างด้าวสำหรับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้นั้น นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระบุว่า สปสช. เตรียมเสนอทางแก้ไขถาวรด้วยการตั้ง 3 กองทุน คือ กองทุนเหมาจ่ายรายหัวสำหรับกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติ กองทุนเยียวยาโรงพยาบาลชายแดนที่มีปัญหาแบกรับการรักษากลุ่มคนไร้สถานะ และกองทุนป้องกันโรคติดต่อตามแนวชายแดน
นพ.ประทีป มีมุมมองที่น่าสนใจต่อเรื่องนี้ว่า การให้สิทธิประกันสุขภาพกับกลุ่มคนไร้สถานะเป็นเรื่องของความมั่นคงด้านสุขภาพไม่เกี่ยวข้องกับการรับรองความเป็นคนไทยหรือให้สัญชาติไทย ซึ่งคงต้องทำความเข้าใจกับกระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ต้องมีการพิสูจน์สถานะบุคคลต่อไปตามกระบวนการอยู่แล้ว
ปัจจุบัน รพ.สังขละบุรีเป็นหนี้สะสมประมาณ 10 ล้านบาท นพ.กฤษฎา บอกว่า อีกเดือนกว่า ถ้ายังไม่มีการแก้ไขใดๆ โรงพยาบาลจะล้มละลาย ซึ่งทำให้โรงพยาบาลต้องหยุดการพัฒนา นั่นส่งผลกระเทือนถึงระบบการบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทั้งหมด “เรารู้ว่ามันกระเทือน แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร คือ ทางแก้มีอยู่แล้ว คือ ขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการเอาเงินไปอุ้มคนอื่น เขาอยู่สังคมเดียวกับเรานี่แหละ แต่ปัญหาคือ เขาเป็นเหยื่อจากนโยบาย เป็นคนไทยที่ตกหล่น ถ้าไม่ทำอย่างนี้ มันจะสะเทือนไปทั้งหมด ตอนนี้โรคติดต่อหลายโรคมีภาวะรุนแรงขึ้น ดื้อยามากขึ้น เช่น วัณโรค มาลาเรีย แล้วโรคไม่ได้แบ่งด้วยบัตรประชาชน มันไม่มีพรมแดน ติดต่อถึงกันได้หมด ถ้าไม่รีบทำอะไร ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลล้มละลาย แต่ความมั่นคงด้านสุขภาพของไทยจะมีปัญหาไปด้วย”นพ.กฤษฎา บอกถึงสิ่งที่รพ.และสังคมนี้ต้องเผชิญ