xs
xsm
sm
md
lg

เชียงรายจับมือ 4 องค์กร NGOs ตรวจดีเอ็นเอคนไทยไร้สัญชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – จังหวัดฯจับมือ 4 องค์กรเอกชนลุยตรวจดีเอ็นเอ คนไทยไร้สัญชาติ เริ่มต้น 999 คน ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ก่อนเดินหน้าในพื้นที่ 8 อำเภอของเชียงรายนำร่อง ขณะที่ตัวแทนNGOsจี้ มท.1ให้สัญชาติคนอีกนับหมื่นที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว แต่เรื่องค้างอยู่หน้าห้อง รมว.มหาดไทย พร้อมย้ำให้ถือว่า “เอาบุญ”


วันนี้ (27 พ.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.เชียงราย นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้นำองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จำนวน 4 องค์กร ทั้งมูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา องค์กรแพลนประเทศไทย หน่วยพัฒนาและบรรเทาทุกข์มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นเดย์แอ๊ดเวนติสแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการดำเนินโครงการดีเอ็นเอ เพื่อการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิคนไร้สัญชาติถวายแด่ในหลวง

นายสุเมธ เปิดเผยว่า จังหวัดได้ร่วมกับทั้ง 4 องค์กร และคณะแพทย์โรงพยาบาลเชียงใหม่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ที่มีสภาพเป็นคนไทยไร้สัญชาติไร้รัฐ อันเนื่องจากปัญหาทางด้านหลักฐานและพยานต่างๆ ในการพิสูจน์สถานะความเป็นพลเมืองไทย โดยพื้นที่เชียงรายเป็นพื้นที่ชายแดนประกอบกับมีพื้นที่สูงสลับกับพื้นที่ราบเกือบทุกอำเภอทำให้มีปัญหาคนไทยที่ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้จะประสบปัญหามากมายทั้งเรื่องสิทธิการศึกษา สุขภาพ การถือครองทรัพย์สิน การเลือกตั้ง ฯลฯ

จึงได้ร่วมกันตรวจสอบในพื้นที่ 8 อำเภอนำร่องก่อน ประกอบไปด้วย อ.เมือง แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เชียงแสน เชียงของ แม่สรวย และเวียงป่าเป้า เพื่อตรวจหาบุคคลที่เข้าสู่การพิสูจน์สถานภาพและทั้งทางฝ่ายปกครองและองค์กรเอกชนที่ร่วมกันทำงานเห็นแล้วว่าควรได้รับสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์ เพียงแต่ยังขาดหลักฐานต่างๆ ประกอบจึงต้องใช้การตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ว่าตรงกับพ่อแม่จริงเท่านั้น

นายสุเมธ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เนื่องจากในปี 2552 นี้ จ.เชียงราย ต้องการจะจัดการเฉลิมฉลองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันที่ 5 ธ.ค.ดังนั้นนอกจะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติด้านต่างๆ เช่น งานรัฐพิธี นิทรรศการ ฯลฯ ยังได้ทำการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก เยาวชนและบุคคลไร้สัญชาติที่เข้าหลักเกณฑ์ต้องใช้วิธีการตรวจดีเอ็นเอ.จำนวน 999 คน มาตรวจดีเอ็นเอ.ยืนยัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บุคคลทั้ง 999 เป็นผู้ที่ฝ่ายปกครองและองค์กรเอกชนทั้งหมดได้พิสูจน์ชัดแล้วว่าเป็นคนไทยแน่นอน เพียงแต่อาจจะมีปัญหาด้านต่างๆ จึงทำให้ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย รอเพียงการตรวจดีเอ็นเอ.เพื่อยืนยันความสัมพันธ์เชิงครอบครัวเท่านั้น ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นในชุดนี้แล้วจะได้ดำเนินการต่อไปทั้ง 18 อำเภอ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ยังมีปัญหาเรื่องสัญชาติทั้งจังหวัดที่มีอยู่กว่า 20,000 คนต่อไป

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เชียงราย และที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่า ผู้ที่ต้องอาศัยการตรวจดีเอ็นเอ.ซึ่งมาจากทั้ง 8 อำเภอ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากเรื่องเอกสารขาดหาย มีพ่อและแม่ได้สัญชาติไทยแล้วแต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิดตามกฎหมาย บางรายเอกสารมีความขัดแย้งกันระหว่างพ่อและแม่ เป็นต้น

สำหรับขั้นตอนการตรวจดีเอ็นเอ.ทั้ง 999 คนนี้ จะเริ่มพิสูจน์และเจาะเลือดที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในวันที่ 4 ธ.ค.และ 17 ธ.ค.นี้ โดยที่ทั้งหมดไม่ต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ และแจ้งผลมาภายหลัง จากนั้นคาดว่าทางฝ่ายทะเบียนราษฎรของแต่ละอำเภอคงจะดำเนินการให้สัญชาติบุคคลเหล่านี้ภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือนต่อไป

นางเตือนใจ บอกว่า ตามปกติค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นเอในลักษณะดังกล่าวอยู่ที่หัวละ 1,500 บาท แต่ในครั้งนี้ทั้ง 4 องค์กรได้สนับสนุนงบประมาณรายละ 1,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือให้ผู้ที่จะตรวจเสียค่าใช้จ่ายเองรายละ 500 บาท ถือเป็นการนำร่องก่อนใน 8 จังหวัด แต่เชื่อว่าในอนาคตหากว่าชุดนี้ดำเนินการแล้วเสร็จและทำการตรวจในอำเภอที่เหลือจะเหลือบุคคลที่เข้าเกณฑ์เดียวกันน้อย เพราะทั้ง 8 อำเภอถือว่ามีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งหากพบอีกงบประมาณด้านการช่วยเหลือคงขอผู้ใจบุญอื่นๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมแล้วยังมีผู้ที่ยังไม่ได้สัญชาติเพราะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตรวจดีเอ็นเอถือว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งต้องใช้วิธีอื่นในการช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา จ.เชียงราย ถือว่ามีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา 23 ของ พรบ.สัญชาติฉบับที่ 4 อย่างมาก โดยเมื่อเดือน พ.ย.นี้ สามารถทำให้บุคคลได้รับสัญชาติไทยเพิ่มเติมกว่า 6,000 คน หลังการพิสูจน์ด้านต่างๆ แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลข 50% ของผู้ได้รับสัญชาติทั้งประเทศ ขณะที่หลายจังหวัดตัวเลขไม่เคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีอีกปัญหาคือมีบุคคลต่างด้าวที่มีบัตรประจำตัวคนต่างด้าวก่อนปี 2528 หรือเกินกว่า 10 ปีจึงเข้าเกณฑ์การแปลงสัญชาติไทยเป็นคนไทย และได้ขอสัญชาติไปยังกระทรวงมหาดไทยหลงเหลืออยู่นับ 10,000 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีสามารถมีมติถือเป็นกลุ่มพิเศษที่ได้สัญชาติโดยไม่ต้องอยู่ในเงื่อนไขเรื่องรายได้ เช่น มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท เป็นต้น

ปรากฏว่า ในปัจจุบันเรื่องกลับไปคั่งค้าง อยู่ที่หน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ารัฐมนตรีอาจจะยังไม่รู้ข้อมูลจึงขอให้ได้มาทำงานในด้านนี้บ้าง เพื่อให้ประชาชนเหล่านี้พ้นจากความทุกข์ยากดังกล่าวอันจะถือเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง

ด้านนายพรวิชฌ์ ธราพร ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่ภาคเหนือ องค์การแพลนประเทศไทย กล่าวว่าเฉพาะพื้นที่ทำงานขององค์การฯ ในเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 3 พบว่ามีประชากรที่ยังไม่มีสัญชาติรวมกันอยู่กว่า 14,000 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์เอกสารด้านต่างๆ ดังนั้นหากว่ารวมทั้งจังหวัดหรือภาคเหนือหรือทั้งประเทศไทยคงจะมีมากกว่านี้

นายแพทย์ สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่าแต่ละปีโรงพยาบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ป่วย ที่ไม่มีบัตรหรือสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ เลยปีละกว่า 11 ล้านบาท การมีโครงการนี้จึงช่วยทำให้มีผู้ที่ได้รับสัญชาติเพิ่มเติมซึ่งจะช่วยทำให้ได้งบประมาณสำหรับการช่วยเหลือคนไทยได้ เป็นผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งโรงพยาบาลและผู้ป่วย

กำลังโหลดความคิดเห็น